จีนเรียกคณะรัฐประหารเมียนมา อิรวดี สื่อต่อต้านการรัฐประหาร รายงานจับสังเกตว่า จีนเริ่มประกาศตัวรับรองคณะรัฐประหารเมียนมา ว่าเป็น “รัฐบาล” อย่างชัดเจนแล้ว ระหว่างพิธีมอบเงินมูลค่า 6 ล้านดอลลาร์ หรือราว 198 ล้านบาท ผ่านกองทุนพิเศษล้านช้าง-แม่โขง (LMC) สำหรับการดำเนินโครงการ 21 โครงการ

วันนา หม่อง ลวิน

การพบปะระหว่างสองฝ่ายผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จีนระบุชัดว่า นาย วันนา หม่อง ลวิน เป็น “รัฐมนตรี” ว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ส่วนฝ่ายจีนมีนาย เฉินไห่ เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา เข้าร่วมพิธีลงนามข้อตกลงดังกล่าว

พิธีลงนาม เมียนมา – จีน / Irrawaddy

อิรวดีจับสังเกตด้วยว่า นับจากคณะรัฐมนตรีประกาศจัดตั้งรัฐบาล ที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ไหล่ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเอง เมื่อ 1 ส.ค. จากนั้น 7 วัน เมื่อวันที่ 8 ส.ค. จีนเริ่มเรียกคณะรัฐประหารว่าเป็นรัฐบาล ครั้งแรก ตอนที่มิน อ่อง ไหล่ รับมอบวัคซีนจากจีน

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายน จีนยังให้นาย เฉินไห่ เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา เข้าพบพลเอก มิน อ่อง ไหล่ ที่กรุงเนปยีดอว์ โดยเป็นเอกอัครราชทูตคนแรกที่แสดงตัวรับรอง

เฉิน ไห่ พบ มิน อ่อง ไหล่

สำหรับโครงการที่จีนให้เงินทุนล่าสุดนี้ ซินหัว รายงาน ว่า ครอบคลุมหลากหลายด้านเกี่ยวกับความมั่นคงรูปแบบใหม่ (NTS) เช่น ทรัพยากรมนุษย์ การผลิตวัคซีนสำหรับโรคในสัตว์ วัฒนธรรม เกษตรกรรม การป้องกันภัยธรรมชาติ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ การค้าชายแดน การท่องเที่ยว และการเงิน

โครงการเรือนเพาะชำภายใต้ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาผักและผลไม้ ในเขตชานเมืองของนครย่างกุ้งของเมียนมา วันที่ 24 ส.ค. 2020 / Xinhua

นายวันนา หม่อง ลวิน ให้คำมั่นในพิธีลงนามว่า เมียนมาจะทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของกลุ่มประเทศล้านช้างแม่โขง โดยโครงการข้างต้นที่ผ่านการอนุมัติแล้วเหล่านี้ จะมีการดำเนินงานอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

สถานทูตจีนในเมียนมาระบุว่า จนถึงขณะนี้ กองทุนพิเศษล้านช้างแม่โขง (LMC) ได้สนับสนุนการดำเนินโครงการในเมียนมาถึง 73 โครงการแล้ว

แม่น้ำโขงไหลผ่านพรมแดนไทย – ลาว ที่จังหวัดหนองคาย

จีนได้ริเริ่มกองทุนพิเศษล้านช้างแม่โขง ระหว่างการประชุมผู้นำล้านช้างแม่โขงครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2016 โดยมุ่งสนับสนุนโครงการความร่วมมือขนาดเล็กและขนาดกลางที่ยื่นเสนอโดยสมาชิกความร่วมมือล้านช้างแม่โขงทั้ง 6 ประเทศ

สำหรับสมาชิกความร่วมมือล้านช้างแม่โขง ประกอบด้วย จีน กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย

………..

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

แม่น้ำโขง : ฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้เขื่อนจีนในกัมพูชาของจีนเป็น “หายนะ” ทางสิทธิมนุษยชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน