โควิด ผลวิจัยชี้ซิโนแวคเข็มสาม ภูมิคุ้มกันคัมแบ็ก 2.5 เท่าของเข็มสอง

โควิด – วันที่ 6 ก.ย. รอยเตอร์รายงานว่า ผลการศึกษาจากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน มหาวิทยาลัยฟูตัน นครเซี่ยงไฮ้ พบอาสาสมัครที่ได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 เข็มที่สาม จากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค มีปริมาณภูมิคุ้มกันต่อไวรัสกลับมาสูงกว่าเมื่อครั้งตรวจพบหลังได้รับเข็มสองถึง 2.5 เท่า

ผลการศึกษาดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลต่อประสิทธิศักย์ของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากผู้พัฒนาจีน ต่อเชื้อชนิดกลายพันธุ์เดลต้า ซึ่งกลายเป็นชนิดที่ระบาดเป็นหลักทั่วโลก ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงขึ้นแม้แต่ในชาติที่ได้รับวัคซีนมากที่สุดในโลก

รายงานระบุว่า ความไม่มั่นใจดังกล่าวส่งผลให้บรรดารัฐบาลของหลายประเทศเริ่มทยอยฉีดวัคซีนเข็มที่สามให้กับประชาชนที่ได้รับวัคซีนจากซิโนแวกไปแล้ว 2 เข็ม ด้วยวัคซีนจากผู้พัฒนาในชาติตะวันตกแทน

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟูตัน กล่าวว่า ผลการตรวจภูมิคุ้มกันประเภท Neutralizing Antibody (NAb) ซึ่งมีหน้าที่คุ้มกันเซลล์ในร่างกายจากการติดไวรัสนั้นไม่พบในกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม เป็นเวลา 6 เดือน

ต่อมาเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนจากซิโนแวคเป็นเข็มที่สามเป็นเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ ก็ตรวจพบปริมาณ NAb ในระดับที่สูงกว่าเมื่อตอนพบหลังเข็มสอง (นาน 4 สัปดาห์) ถึง 2.5 เท่า

อย่างไรก็ตาม คณะนักวิจัยไม่ได้กล่าวถึงประสิทธิศักย์ของของวัคซีนยี่ห้อนี้ต่อเชื้อชนิดเดลต้า และไม่ได้มีการทดสอบถึงความสามารถในการต้านทานเชื้อข้างต้นของ NAb ที่ได้กลับมา นอกจากนี้ ผลการศึกษานั้นยังใช้กลุ่มตัวอย่างเพียง 66 คนเท่านั้น

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) มีแผนจะส่งวัคซีนจากผู้พัฒนาจีนอย่าง ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ไปให้กับชาติที่เข้าร่วมโครงการกระจายวัคซีน COVAX จำนวน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นเดือนนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาติทวีปเอเชีย และแอฟริกา

อย่างไรก็ดี มีบางประเทศที่ออกมาปฏิเสธไม่รับวัคซีนยี่ห้อดังกล่าวจากโครงการ COVAX แล้ว โดยให้เหตุผลว่า มีผลการศึกษาเรื่องประสิทธิศักย์ต่อเชื้อชนิดเดลต้าไม่เพียงพอ แม้วัคซีนซิโนแวคจะถูกผลิตออกมาให้ประชาคมโลกไปแล้วถึง 1,800 ล้านโดส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน