หาเงินหนีระบอบตาลิบัน – วันที่ 13 ก.ย. เอเอฟพี รายงานบรรยากาศตลาดนัดในกรุงคาบูลของอัฟกานิสถานที่อัดแน่นไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่ชาวอัฟกันผู้หมดหนทางขายที่ราคาต่ำสุดๆ หาเงินเพื่อหลบหนีจากระบอบตาลิบัน หรือแค่เพื่อซื้ออาหารกินประทังชีวิต

(Photo by WAKIL KOHSAR / AFP)

จาน แก้ว เครื่องครัว วางกองสูงพะเนินเทินบนโต๊ะที่ทำขึ้นมาชั่วคราวที่ตลาดนัดกลางแจ้ง ข้างๆ มีโทรทัศน์ยุค 1990 และจักรเย็บผ้าซิงเกอร์รุ่นเก่า และพรมม้วนบนโซฟาและเตียงนอนมือสอง

ตั้งแต่กลุ่มตาลิบันบุกเพื่อยึดอำนาจกลางเดือนสิงหาคม ชาวอัฟกันเผยว่า โอกาสในการทำงานลดลง และได้รับอนุญาตถอนเงินจากบัญชีธนาคารเพียงสัปดาห์ละ 200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6,500 บาท หมายความว่า เงินสดขาดตลาด

(Photo by WAKIL KOHSAR / AFP)

“เราไม่มีอะไรกิน เรายากจนและจำต้องขายของเหล่านี้” นายโมฮัมหมัด เอห์ซัน ผู้อาศัยอยู่บนเนินเขาแห่งหนึ่งของกรุงคาบูล และมาตลาดนัดเอาผ้าห่มสองผืนมาขาย จากเดิมทำงานเป็นคนงานก่อสร้าง แต่โครงการสร้างยกเลิกหรือระงับไป “คนรวยอยู่ในกรุงคาบูล แต่ตอนนี้ทุกคนหนีไปหมดแล้ว”

นายเอห์ซันเป็นชาวอัฟกันในหลายคนที่มาตลาดนัดต่างๆ เพื่อขายสิ่งที่พวกเขาสามารถส่งมอบกับผู้ซื้อได้โดยตรง โดยแบกหามข้าวของบนแผ่นหลัง หรือเข็นรถเข็นไปตามถนนขุรขระและเป็นผู้มีชีวิตผ่าน “การเปลี่ยนแปลงหลังการเปลี่ยนแปลง” ในอัฟกานิสถานมาแล้ว

(Photo by WAKIL KOHSAR / AFP)

นายเอห์ซันกล่าวว่า ระมัดระวังต่อการเรียกร้องสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของตาลิบัน เนื่องจากราคาอาหารพื้นฐานพุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับที่เมื่อตอลิบันอยู่ในอำนาจครั้งล่าสุดระหว่างปี 2539-2544

“คุณไม่สามารถเชื่อใครได้เลย”

(Photo by WAKIL KOHSAR / AFP)

อัฟกานิสถานที่มีความยากจนกำลังเผชิญความแห้งแล้ง อาหารขาดแคลน และแรงกดดันมหาศาลต่อบริการสาธารณสุขจากการระบาดของโควิด-19 ก่อนตาลิบันเข้าควบคุมประเทศ ทำให้ชาติตะวันตกระงับความช่วยเหลือค้ำจุนเศรษฐกิจอัฟกานิสถาน

โครงการพัฒนาสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) เตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ร้อยละของประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนอาจเพิ่มจาก 72% เป็น 97% ภายในกลางปีหน้า หากไม่ดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

(Photo by WAKIL KOHSAR / AFP)

 

หมดหนทางและยากจน

นอกจากนี้ ในตลาดนัด ผู้คนทำงานเพื่อซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องเสียง พัดลม และเครื่องซักผ้า ก่อนที่จะนำไปขายต่อ ส่วนวัยรุ่นหนุ่มคั้นน้ำแครอทและทับทิมขายบนแผงเคลื่อนที่ ขณะที่คนอื่นๆ เข็นรถเข็นล้อเดี่ยวบรรทุกกล้วย มันฝรั่ง และไข่ไก่ ผ่านฝูงชนในตลาดนัด ซึ่งพ่อค้าของเก่าบอกว่าไม่เคยเห็นบรรยากาศยุ่งๆ แบบนี้มาก่อน

มุสตาฟา พ่อค้าของเก่าคนหนึ่ง ใช้ตู้คอนเทนเนอร์เปิดเป็นร้าน บอกว่า หลายคนที่นำข้าวของมาขายตน เดินทางไปชายแดนด้วยความหวังออกนอกประเทศ

(Photo by WAKIL KOHSAR / AFP)

“ที่ผ่านมา ผมจะรับซื้อข้าวของสัปดาห์ละ 1-2 ครอบครัว แต่ตอนนี้ หากคุณมีร้านค้าใหญ่ๆ จะสามารถรับซื้อข้าวของได้ 30 ครอบครัวในคราวเดียว ผู้คนหมดหนทางและยากจน เอาของที่มีมูลค่า 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 200,000 บาท มาขายด้วยราคาด้วยราคาเพียงราว 2,000 ดอลลาร์ หรือราว 65,000 บาท”

มุสตาฟา ไม่มีแผนออกนอกประเทศ กล่าวว่า ลูกค้าที่ร้านของเขามักเป็นผู้หนีไปจากกรุงคาบูลไปต่างจังหวัดเพื่อความปลอดภัยเมื่อตาลิบันเปิดฉากโจมตีอย่างกว้างขวาง

(Photo by WAKIL KOHSAR / AFP)

ส่วนพ่อค้าของเก่าอีกคนไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวว่าเพิ่งตั้งร้านค้าไม่กี่สัปดาห์ก่อน หลังทำงานเป็นครูฝึกในกองทัพมาเป็นเวลา 13 ปี และตอนนี้ใช้ชีวิตท่ามกลางความกลัวตาลิบัน

“น่าเสียดายที่สังคมเรากลับหัวกลับหาง ดังนั้น เราถูกบีบทำอย่างอื่น ผมกลายเป็นพ่อค้าของเก่า ผมไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ต่างประเทศ – ฟื้นเที่ยวบินอพยพยุครัฐบาลตาลิบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน