สื่อญี่ปุ่นยัน! รองนายกฯเดินทางเข้าเมียนมา พบ มิน อ่อง ไหล่ ไม่สนอาเซียน

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. โยมิอุริ ชิมบุง สำนักข่าวใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย ผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้เดินทางไปเยือนประเทศเมียนมาเพื่อพูดคุยกับพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเมียนมา และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ณ กรุงเนปยีดอว์

รองนายกฯเดินทางไปยังประเทศเมียนมา ท่ามกลางสายตาที่ถูกจับจ้องจากสมาชิกประเทศในอาเซียน แหล่งข่าวบอกว่าทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีแต่ยังไม่มีประกาศจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยออกมาแต่อย่างใด

ด้าน เว็บไซต์เรดิโอ ฟรีเอเชีย รายงานข่าวดังกล่าวเช่นกัน ว่านายดอนพบกับพลเอกอาวุโสมิน อ่องไหล่ หัวหน้ารัฐบาลทหาร และนายวันนะ หม่องลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ย. ก่อนที่ต่อมาเดินทางกลับไทยในวันเดียวกัน

แหล่งข่าวทางการทูตกล่าวกับอิรวดีออนไลน์ว่า ได้หารือประเด็นอ่อนไหวหลายประเด็น อาจรวมถึงนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาที่มีฐานในไทยตามแนวชายแดนสองประเทศ

ทั้งนี้แม้นายดอน ปรมัตถ์วินัยเคยพบหารือกับนายวันนะ หม่องลวิน ที่กรุงเทพมหานคร หลังจากกองทัพยึดอำนาจเมื่อ 1 ก.พ. แต่การเยือนเมียนมาของนายดอนครั้งนี้นับเป็นการเยือนเมียนมาครั้งแรกของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยนับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจ

สำหรับพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ก่อรัฐประหารตั้งแต่วัยที่ 1 ก.พ. ประชาชนเมียนมาหลายร้อยคนถูกควบคุมตัวและถูกสังหารโดยทหาร ความรุนแรงที่เกิดจากการยึดอำนาจถือว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ละเมิด “ฉันทามติ 5 ประการ” ข้อตกลงที่กลุ่มอาเซียนที่ได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอหาทางออกให้กับปัญหาความรุนแรงในเมียนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540

ฉันทามติ 5 ประการ ประกอบด้วย

  1. จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่
  2. การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
  3. ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน
  4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA)
  5. ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ มีรายงานว่ามีแรงงานชาวเมียนมาจำนวนมากที่เดินทางเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ที่ทางประเทศไทยได้ประกาศเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ

++++++

ที่มา yomiuri.co.jp

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน