คาซัคฯสลายจลาจลต้านก๊าซแพง – วันที่ 6 ม.ค. คอมเมียร์ซันต์ และ ตาสส์ รายงานความคืบหน้าการประท้วงในคาซัคสถานว่า มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย ที่บุกเผาทำเนียบประธานาธิบดีและศาลาว่าการนายกเทศมนตรีในนครอัลมาตี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ หลังมีการส่งทหารเข้าเพื่อปิดล้อมและกวาดล้างผู้ประท้วงที่ก่อจลาจลในกลางใจเมือง

โฆษกสำนักงานตำรวจนครอัลมาตีระบุว่า เมื่อคืนนี้กองกำลังหัวรุนแรงพยายามบุกที่ทำการบริหารสองแห่ง และสำนักงานตำรวจนครอัลมาตี ตลอดจนสำนักงานเขต และสถานีตำรวจต่างๆ มีผู้บุกรุกเสียชีวิตหลายสิบราย และตำรวจขอให้ประชาชนงดออกจากบ้าน เนื่องจากปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายยังดำเนินต่อไป

ส่วนผู้บาดเจ็บจากการประท้วงและจลาจล กระทรวงสาธารณสุขระบุตัวเลขมากกว่า 1,000 คน ในจำนวนนี้ 400 คน อยู่ในโรงพยาบาล 62 คน อยู่ในไอซียู

Reuters / Pavel Mikheyev

ด้านประธานาธิบดีคาซึม-โจมาร์ต โตคาเยฟ ออกคำสั่งเร่งด่วนหลายข้อให้รัฐบาลดำเนินการเกี่ยวกับเหตุการณ์จลาจล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิเศษเพื่อหาสาเหตุและดำเนินการคดีทางอาญาและทางปกครองกับผู้กระทำความผิดทั้งหมด

วันเดียวกัน องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (CSTO) พันธมิตรทางทหารระหว่างรัฐบาลของรัฐสมาชิกในอดีตสหภาพโซเวียต ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปคาซัคสถาน โดยมีภารกิจในการปกป้องสถานที่ของรัฐบาลและทหาร และให้ความช่วยเหลือในการบังคับใช้กฎหมาย

Reuters / Pavel Mikheyev

ทั้งนี้ การประท้วงเริ่มต้นในแคว้นมันกิสตาอูของคาซัคสถานเมื่อวันที่ 2 ม.ค. เนื่องจากการขึ้นราคาก๊าซเติมรถยนต์อีกเท่าตัว จาก 60 เท็งเก เป็น 120 เท็งเก (ราว 4.61 บาท เป็น 9.22 บาท) ต่อ 1 ลิตร

แม้ว่าวันที่ 4 ม.ค. รัฐบาลให้คำมั่นที่จะลดราคาเชื้อเพลิงลงเหลือ 50 เท็งเก (3.84 บาท) ต่อลิตรแล้ว แต่การประท้วงยังดำเนินต่อไป ผู้ประท้วงเรียกร้องลดราคาสินค้าอื่นๆ และให้รัฐบาลลาออก ตามมาด้วยเหตุการณ์จลาจลตั้งแต่เย็นวันเดียวกันในนครอัลมาตี

EyePress / AFP

ข้อมูลทางการระบุว่า ระหว่างความไม่สงบที่เกิดขึ้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังรักษาดินแดนเสียชีวิตทั้งหมด 8 นาย และบาดเจ็บ 317 นาย

ต่อมา ประธานาธิบดีคาซึม-โจมาร์ต โตคาเยฟ ลงนามกฤษฎีกาบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินในแคว้นมันกิสตาอู และนครอัลมาตี ก่อนจะครอบคลุมทั่วประเทศ ถึงวันที่ 19 ม.ค. 2565 และคืนเดียวกันนั้น รัฐบาลประกาศลาออก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน