วันที่ 3 ก.พ. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เนื่องด้วยโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ที่กรุงปักกิ่งของจีนกำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว รถไฟ ความเร็วสูงที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองขบวนแรกของโลกพร้อมใช้งานแล้ว โดยขนนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ระหว่างสองเมืองหลักที่จัดการแข่งขันบนเส้นทางรถไฟอันเก่าแก่ระหว่างกรุงปักกิ่ง-จางเจียโข่ว

รถไฟหัวกระสุน จีน

Ren Chao/Xinhua

ความจริงที่ว่ารถไฟหัวกระสุนสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองน่าทึ่งพอแล้ว แต่ระหว่างการเดินทาง 56 นาที รถไฟ ยังผ่านสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรม นั่นคือ สถานีกำแพงเมืองจีนปาต๋าหลิ่ง (Badaling Great Wall)

สถานีปาต๋าหลิ่งก่อสร้างสมบูรณ์ในปี 2562 อยู่ไม่ไกลจากทางเข้าปาต๋าหลิ่ง ซึ่งเป็นส่วนของกำแพงเมืองจีนที่มีผู้มาเยือนมากที่สุด โดยทางรถไฟและสถานีที่เชื่อมต่อกันสร้างใต้ดินลึก เพื่อป้องกันความเสียหายของโครงสร้าง กำแพงเมืองจีน

สถานีปาต๋าหลิ่งมีความสูง 3 ชั้น อยู่ใต้ดินลึกลงไป 102 เมตร ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 36,000 ตารางเมตร กล่าวกันว่าเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงใต้ดินขนาดใหญ่และลึกที่สุดในโลก และการสร้างสถานีที่ซับซ้อนเช่นนี้ รวมถึงระบบอุโมงค์ยาว 12 กิโลเมตร ภายใต้กำแพงเมืองจีน มรดกโลกของยูเนสโก ไม่ใช่ง่ายๆ

สถานีกำแพงเมืองจีนปาต๋าหลิ่ง

Zhang Chenlin/Xinhua

สื่อทางการจีนรายงานว่า วิศวกรใช้ตัวจุดระเบิดอิเล็กทรอนิกส์เพื่อจับเวลาการระเบิดอย่างแม่นยำถึงมิลลิวินาที เป็นครั้งแรกที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวใช้ในจีน และให้คนงานรักษาความเร็วของการสั่นสะเทือนต่ำกว่า 0.2 เซนติเมตรต่อวินาที

นั่นหมายความว่าการระเบิดใต้ดินทุกครั้งมีการคำนวณอย่างแม่นยำเพื่อให้แน่ใจว่า ผลกระทบจะไม่แรงกว่าการย่ำเท้าก้าวเดียวของคนเดินขึ้น กำแพงเมืองจีน ส่วนการก่อสร้างอุโมงค์และสถานีเริ่มในปี 2559 และเสร็จสมบูรณ์โดยใช้เวลาราว 3 ปี

รถไฟ ความเร็วสูงขบวนนี้ย่นระยะเวลาการเดินทางจากกรุงปักกิ่ง-กำแพงเมืองจีนปาต๋าหลิ่ง จากราว 1.5 ชั่วโมง เหลือราว 27 นาที สถานีอยู่ห่างจากสถานีกำแพงเมืองจีนของรถกระเช้าไฟฟ้าไม่กี่นาที และห่างราว 800 เมตร จากจุดเริ่มต้นของกำแพงเมืองจีนปาต๋าหลิ่ง และยังเป็นที่ตั้งของบันไดเลื่อนที่ยาวเป็นอันดับที่สองของจีน ด้วยความยาว 88 เมตร และสูง 42 เมตร

เนื่องจากระยะห่างจากชานชาลารถไฟมาก ประตูสถานีปาต๋าหลิ่งจึงปิดบริการแก่ผู้ถือตั๋ว 12 นาทีก่อนรถไฟขบวนสุดท้ายออก (แทนที่จะใช้เวลา 5 นาทีตามปกติในสถานีอื่นๆ ในจีน) เพื่อให้ผู้โดยสารมีเวลาพอเดินทางผ่านสถานีสถานีปาต๋าหลิ่งขนาดใหญ่เช่นนี้

สถานีกำแพงเมืองจีนปาต๋าหลิ่ง

Ju Huanzong/Xinhua

ทั้งนี้ ทางรถไฟปักกิ่ง-จางเจียโข่วมีความยาว 108 ไมล์ (173.8 กิโลเมตร) ให้บริการโดยรถไฟฟู่ซิงความเร็วสูงรุ่นใหม่ที่พัฒนาและดำเนินการโดยกลุ่มการรถไฟแห่งรัฐของจีน ซึ่งเปิดตัวเมื่อต้นเดือนม.ค.ปีนี้

รถไฟฟู่ซิงสามารถวิ่งได้เร็วสูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลดเวลาการเดินทางระหว่างสองเมืองหลักที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจาก 3 ชั่วโมงเหลือ 56 นาที และแม้จะเป็นแบบอัตโนมัติ โดยรถไฟสามารถเริ่ม หยุด และปรับจำกัดความเร็วต่างๆ ระหว่างสถานีได้โดยอัตโนมัติ แต่คนขับที่คอยตรวจสอบจะประจำการบนรถไฟตลอดเวลา

รถไฟความเร็วสูง

Jia Tianyong/China News Service

ตู้โดยสาร 8 ตู้ของรถไฟติดตั้งสัญญาณ 5G ระบบไฟอัจฉริยะ และเซ็นเซอร์ 2,718 ตัว เพื่อรวบรวมข้อมูลแบบเวลาจริง (เรียลไทม์) และตรวจจับความผิดปกติในการใช้งาน

ตู้โดยสารพิเศษได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการของนักกีฬา เช่น ห้องโดยสารบางแห่งมีพื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์กีฬาฤดูหนาวขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ด้วยคิวอาร์โค้ด นอกจากทางรถไฟสายหลัก มีทางรถไฟย่อยอีก 2 สาย ได้แก่ หยางชิ่ง และฉงหลี่ ซึ่งเชื่อมต่อผู้โดยสารที่ได้รับอนุญาตกับหมู่บ้านหลักในโอลิมปิกฤดูหนาว 2 แห่ง

ระบบการจัดการดังกล่าวเป็นรูปแบบปิดตลอด 55 วัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม มีการใช้งานแล้ว ดังนั้น ผู้มุ่งหน้าไปการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะไม่ได้ใช้ตู้รถไฟเดียวกับผู้โดยสารคนอื่นๆ ในทางรถไฟเดียวกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จีน คุมเข้มโควิด พร้อมรับ นักกีฬาทั่วโลก ลุย โอลิมปิก ฤดูหนาว 2022

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน