หิมะยอดเขาเอเวอเรสต์ละลาย นักวิทย์ชี้สะสมมา2พันปีเกลี้ยงหมดใน30ปี

หิมะยอดเขาเอเวอเรสต์ละลาย – วันที่ 3 ก.พ. ซีเน็ตรายงานว่า สถานีตรวจวัดสภาพภูมิอากาศบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกเผยข้อมูลน่าตกใจ ว่าหิมะบนยอดเขาดังกล่าวกำลังละลายหายไปอย่างรวดเร็วด้วยปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือโลกร้อน

สถานีตรวจวัดดังกล่าวเป็นผลงานของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และค่ายโรเล็กซ์ เมื่อปี 2563 นำเครื่องตรวจวัดไปตั้งบริเวณ South Col Glacier ธารน้ำแข็งบริเวณที่จะขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ พร้อมเก็บตัวอย่างน้ำแข็งมาวิเคราะห์

หิมะยอดเขาเอเวอเรสต์ละลาย

ทีมนักวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่างน้ำแข็งและติดตั้งสถานีตรวจวัดบริเวณยอดเขาเอเวอเรสต์ (Dirk Collins/National Geographic)

ผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate and Atmospheric Science ฉบับวันที่ 3 ก.พ. ทราบชัดเจนแล้วว่าโลกร้อนนั้นส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่ออัตราการละลายของหิมะบนยอดเขาเอเวอเรสต์ตั้งแต่ช่วงปี 2533 เป็นต้นมา

การสำรวจพบว่าทุ่งหิมะสีขาวโพลนในบริเวณดังกล่าวกลายสภาพธารน้ำแข็งใสตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนถึงการละลายของหิมะจากการรับเอารังสีที่เข้มข้นมากขึ้นจากดวงอาทิตย์ โดยธารน้ำแข็งที่เกิดขึ้นนั้นมีความหนาน้อยลงเรื่อยๆ

กาคำนวณบ่งชี้ว่า ธารน้ำแข็งแห่งนี้มีความหนาน้อยลงถึง 54 เมตร ภายในระยะเวลาเพียง 25 ปี หมายความว่ามีอัตราการละลายไวกว่าอัตราการสะสมหิมะเป็น 80 เท่า เทียบเท่ากับการสูญเสียหิมะที่สะสมมานานกว่า 2 พันปี ตั้งแต่ช่วงปี 2533 มาถึงปัจจุบัน

การศึกษาระบุว่า หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปยอดเขาเอเวอเรสต์จะมีปริมาณหิมะที่สูญเสียไปต่อปีเทียบได้กับปริมาณหิมะที่สะสมมานานหลายสิบปี นอกจากนี้ การละลายของหิมะยังเผยให้เห็นศพของบรรดานักปีนเขาที่หายสาบสูญไปในอดีตด้วย

นักวิจัย ระบุว่า ปัจจัยเสริมที่มีผลต่ออัตราการละลายของหิมะบนยอดเขาเอเวอเรสต์นั้นมาจากกระแสลมที่รุนแรงมากขึ้น และความชื้นสัมพันธ์ในอากาศที่ลดลง แต่ปัจจัยหลักนั้นมาจากอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้น

ผลกระทบระยะสั้นจากการละลายของหิมะและน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ยังจะส่งผลให้การปีนเขาขึ้นสู่ยอดนั้นยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากสันฐานและผนังน้ำแข็งจะแตกตัวได้ง่ายขึ้น ทำให้อาจต้องเปลี่ยนเส้นทาง และใช้อุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย

ส่วนผลกระทบในระยะยาวนั้นจะส่งผลต่อบรรดาชาติที่อยู่รายล้อมเทือกเขาหิมาลัย เนื่องจากมีผู้คนกว่า 1 พันล้านคนบนโลกที่อาศัยน้ำจืดจากเทือกเขาดังกล่าว แม้การละลายของหิมะจะส่งผลดีในช่วงแรกให้มีน้ำจืดมากขึ้น แต่เมื่อหิมะละลายจนหมดลง จะเกิดการขาดแคลนน้ำครั้งใหญ่

นอกจากนี้ ทีมสำรวจยังพบผลกระทบสิ่งแวดล้อมบนยอดเขาดังกล่าวอีกเป็นขยะพลาสติก ไมโครพลาสติก และเชือกไนลอน คาดว่าน่าจะมาจากบรรดานักปีนเขาผู้ต้องการใกล้ชิดธรรมชาติทั้งหลาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน