พบพืชใหญ่สุดในโลก นอกชายฝั่งออสซี่ ราว 200 ตร.กม. อายุ 4,500 ปี

วันที่ 1 มิ.ย. บีบีซี รายงานการค้น พบพืชใหญ่สุดในโลก เท่าที่รู้จักมา นอกชายฝั่งออสเตรเลีย พืชดังกล่าวเป็นหญ้าทะเลที่ใหญ่กว่าราว 3 เท่า ของเขตแมนแฮตตันของนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลียใช้การทดสอบทางพันธุกรรม ระบุว่า ทุ่งหญ้าใต้น้ำที่ใหญ่ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ความจริงแล้วเป็นพืชชนิดหนึ่ง เป็นที่เชื่อว่าขยายพันธุ์จากเมล็ดพันธุ์เมล็ดเดียวเป็นเวลาอย่างน้อย 4,500 ปี

ทีมนักวิจัยบังเอิญค้นพบหญ้าทะเลดังกล่าวซึ่งปกคลุมพื้นที่ราว 200 ตารางกิโลเมตร ที่อ่าวชาร์ก ห่างจากนครเพิร์ธไปทางเหนือราว 88 กิโลเมตร จึงทำความเข้าใจความหลากหลายทางพันธุกรรมของหญ้าทะเล หรือ “วัชพืชริบบิ้น” ซึ่งพบทั่วไปตามส่วนต่างๆ ชายฝั่งออสเตรเลีย

ทีมนักวิจัยรวบรวมหน่อของพืชจากทั่วอ่าวชาร์กและตรวจสอบ 18,000 เครื่องหมายทางพันธุกรรม เพื่อสร้างรอยนิ้วมือจากแต่ละตัวอย่าง เพื่อค้นหาจำนวนพืชทั้งหมดในทุ่งหญ้าใต้น้ำ

เจน เอดเลอ ผู้เขียนการศึกษาดังกล่าว ระบุว่า “คำตอบทำให้เราประหลาดใจ มีเพียงหนึ่งเดียว “เพียงเท่านั้น พืชเพียงชนิดขยายพันธุ์ไปไกล 180 กิโลเมตรในอ่าวชาร์ก จึงเป็นพืชที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่รู้จักมา”

พืชดังกล่าวยังมีความโดดเด่นในความแข็งแกร่ง เติบโตในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วอ่าวที่มีสภาพแปรปรวนอย่างดุเดือด

ดร.เอลิซาเบธ ซินแคลร์ หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าวว่า “ดูจะมีความยืดหยุ่นมาก ต้องเผชิญกับอุณหภูมิและความเค็มหลากหลาย รวมถึงสภาพแสงสูงมาก เมื่อรวมกันแล้วจะเกิดความเครียดสูงสำหรับพืชส่วนใหญ่”

ปกติแล้วพืชชนิดนี้จะเติบโตเหมือนสนามหญ้าในอัตราสูงถึง 35 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งเป็นวิธีการที่นักวิจัยประเมินเวลา 4,500 ปี ในการแพร่พันธุ์จนขนาดครอบคลุม 180 กิโลเมตรอย่างในปัจจุบัน

การวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the Royal Society B

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เกรตแบร์ริเออร์รีฟ มรดกโลกของออสเตรเลีย เผชิญปัญหาอะไรบ้าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน