เยอรมันสกัดแผนปฏิวัติ ส่งตำรวจนับพันนาย-กว้านจับอื้อทั้งในนอกปท.

เยอรมันสกัดแผนปฏิวัติ – วันที่ 7 ธ.ค. รอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเยอรมันนำกำลังเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัย 25 คน ในหลายแห่งทั่วประเทศเยอรมนี หลังมีหลักฐานพบว่าอาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มแนวคิดทางการเมืองขวาจัดและสนับสนุนโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตย

ผู้ต้องสงสัยทั้ง 25 คน ประกอบด้วยบุคคลระดับสูงจากหลายส่วน อาทิ นายทหารสัญญาบัตร 1 นาย ในสังกัดหน่วยรบพิเศษ และเหล่าทหารกองหนุน ในจำนวนนี้ บางส่วนอยู่ระหว่างเตรียมบุกโจมตีอาคารรัฐสภาหรือบุนเดิสทาค ที่กรุงเบอร์ลิน ด้วยกำลังอาวุธ

อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนีหรืออาเอฟเด ที่ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาของศาลในกรุงเบอร์ลิน รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์จากราชวงศ์สายตระกูลไคเซอร์แห่งจักรวรรดิเยอรมัน 1 พระองค์

คณะสืบสวนของทางการเยอรมนี ระบุว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัยข้างต้นมีแผนการชัดเจนที่จะบุกเข้าสู่ส่วนสภาล่างในบุนเดิสทาคด้วยกองกำลังติดอาวุธ โดยหนึ่งในผู้ต้องสงสัย ทราบชื่อภายหลังว่า เจ้าชายไฮน์ริคที่ 13 พี. อาร์. เป็นนักนิติศาสตร์

เจ้าชายเคยพยายามติดต่อกับผู้แทนของทางการรัสเซีย ซึ่งทางกลุ่มมองว่าเป็นศูนย์กลางสนับสนุนการสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ใหม่แห่งเยอรมนี แต่ไม่มีความชัดเจนว่าบุคคลดังกล่าวที่เป็นผู้แทนจากทางการรัสเซียมีท่าทีเชิงบวกหรือให้การสนับสนุนหรือไม่

ไฮน์ริคที่ 13 เป็นหนึ่งในสมาชิกราชตระกูลแห่งร็อยส์ มีบรรดาศักดิ์เป็นถึงเจ้าชาย ซึ่งอัยการคาดว่าเป็นหัวหน้ากลุ่มและถูกกำหนดให้เป็นผู้นำของคณะรัฏฐาธิปัตย์ใหม่

ส่วนอีกคนหนึ่งทราบชื่อว่า รือดีเกอร์ วี. พี. เป็นหัวหน้าฝ่ายการทหารของกลุ่ม ขณะที่ราชตระกูลร็อยส์นั้นเคยแสดงจุดยืนตีตัวออกห่างเจ้าชายไฮน์ริคที่ 13 และระบุว่าเป็นบุคคลที่สับสน ชื่นชอบทฤษฎีสมคบคิดตามสื่อโซเชียล

อัยการผู้รับผิดชอบคดี ระบุว่า ปฏิบัติการสกัดแผนรัฐประหารที่เกิดขึ้นนั้นใช้ตำรวจกว่า 3 พันนาย สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงทั่วประเทศใน 11 รัฐ ได้แก่ บาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค บาวาเรีย เบอร์ลิน เฮ็สเซิน นีเดอร์ซัคเซิน ซัคเซิน และทือริงเงิน รวมถึงในประเทศออสเตรียและอิตาลีด้วย

ผู้ต้องสงสัยทั้งหมดต้องสงสัย ว่าจัดหาวัสดุอุปกรณ์ เกณฑ์สมาชิกใหม่ และฝึกฝนใช้อาวุธปืน เพื่อเตรียมดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามแนวคิดทางการเมืองของตนเองมาตั้งแต่เดือนพ.ย. 2564

มีเจตนาให้เกิดความสูญเสียถึงชีวิตเพื่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ตลอดจนการคัดเลือกสมาชิกใหม่เข้ากลุ่มนั้นมุ่งเน้นไปที่บุคลากรตำรวจและทหาร

นางแนนซี เฟเซอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายใน (เทียบเท่ามหาดไทย) กล่าวถึงปฏิบัติการสกัดแผนโค่นล้มการปกครอง ว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนชัดเจนถึงภัยคุกคามจากขบวนการไรคช์บูเอียเกอ ซึ่งทางการเยอรมันจะเดินหน้าจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวอย่างเฉียบขาดต่อไป

ทั้งนี้ แนวคิดของกลุ่มดังกล่าวสอดคล้องกันกับขบวนการขวาตกขอบ “ไรคช์บูเอียเกอ” และกลุ่ม “คิวอะนอน” ในสหรัฐอเมริกา ที่เชื่อว่าเยอรมนีนั้นอยู่ใต้การปกครองของกลุ่มรัฐลึกหรือดีปสเตต

โดยสมาชิกของกลุ่มไรคช์บูเอียเกอนั้นไม่ให้การยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากเชื่อว่า อาณาจักรไรคช์เยอรมันยังคงอยู่ แม้พรรคนาซีเยอรมัน ผู้กำเนิดแนวคิดดังกล่าวจะถูกกวาดล้างไปหมดแล้วหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน