วันที่ 14 ก.พ.เอเอฟพีรายงานว่า เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานจัดเก็บภาษีเงินได้ของอินเดียเข้าตรวจค้นสำนักงานของบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือ บีบีซี สาขากรุงนิวเดลีและนครมุมไบ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นห่างกันหลายสัปดาห์หลังจากบีบีซีออกอากาศสารคดีที่กล่าวหานายนเรนทรา โมที นายกรัฐมนตรีอินเดียสั่งตำรวจให้เพิกเฉยในเหตุจลาจลระหว่างศาสนา

สื่อมวลชนรายงานข่าวจากด้านนอกตึกสำนักงานบีบีซี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีบุกตรวจค้นในกรุงนิวเดลี เมื่อ 14 ก.พ. (เอเอฟพี)

สารคดีของบีบีซีกล่าวหานายนเรนทรา โมที นายกรัฐมนตรีอินเดียสั่งตำรวจอย่าเข้าไปแทรกแซงในเหตุจลาจลระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมในรัฐคุชราตเมื่อปี 2545 ซึ่งนายโมทีดำรงตำแหน่งมุขมนตรีรัฐคุชราตในขณะนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,000 ราย ซึ่งบีบีซีอ้างรายงานลับจากสถานทูตอังกฤษ อ้างอิงคำพูดของแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยนาม ระบุว่า นายโมทีพบหารือกับนายตำรวจอาวุโสและสั่งไม่ให้แทรกแซงในเหตุความรุนแรงต่อต้านชาวมุสลิมจากกลุ่มฮินดูปีกขวา

รัฐบาลอินเดียใช้อำนาจฉุกเฉินตามกฎหมายเทคโนโลยีข่าวสารปิดกั้นการเข้าถึงวิดีโอ ทวีตข้อความที่แชร์ลิงก์สารคดีดังกล่าว ต่อมากลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเดลีจัดงานฉายสารคดี แม้มหาวิทยาลัยสั่งห้ามเพราะขัดคำสั่งของรัฐ ตำรวจจับกุมนักศึกษาหลายสิบคน หลังเข้าไปสกัดการฉายหนังเมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา

กระทั่งล่าสุดตำรวจปิดสำนักงานบีบีซีในสาขากรุงนิวเดลี เพื่อป้องกันคนเข้า-ออก ซึ่งเป็นสำนักงาน 2 ชั้น พนักงานครึ่งหนึ่งทำงานอยู่ข้างนอก ลูกจ้างบีบีซีระบุว่า ตำรวจยึดโทรศัพท์ทั้งหมด ส่วนเจ้าหน้าที่อินเดียระบุว่า หน่วยงานรัฐบาลกำลังทำงานภายในสำนักงาน แต่ไม่เปิดเผยว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานใด

ด้านนายเการาฟ ภาเตีย โฆษกพรรครัฐบาลอินเดียระบุว่า บีบีซีไม่ควรพ่นพิษขณะปฏิบัติงานในอินเดีย ” บีบีซีหมกมุ่นในการทำโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านอินเดีย” อินเดียเป็นประเทศที่ให้โอกาสแก่ทุกๆองค์กร…ตราบเท่าที่คุณไม่พ่นพิษ” โฆษกพรรครัฐบาลอินเดียกล่าว

เสรีภาพสื่อของอินเดีย ชาติประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่สุดของโลกเผชิญความเสียหาย ซึ่งจากการจัดอันดับดัชนีเสรีภาพสื่อโลก (World Press Freedom Index) โดยองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน อินเดียร่วงลง 10 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 150 จาก 180 ประเทศ นับตั้งแต่นายโมทีขึ้นบริหารประเทศในปี 2557

…………

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน