รายแรกของโลก! อินเดียติดเชื้อราต้นไม้หวิดดับ-ชี้โลกร้อนทำรากลายพันธุ์

รายแรกของโลก! – วันที่ 30 มี.ค. ไอเอฟแอลรายงานการค้นพบผู้ป่วยติดเชื้อราสายพันธุ์ Chondrostereum purpureum คนแรกของโลกเป็นชาวอินเดียอายุ 61 ปี ท่ามกลางคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ถึงปัญหาอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่สูงขึ้นกำลังทำให้เห็ดรากลายพันธุ์

เชื้อรา “คอนโดรสตีเรียม เพอร์พิวเรียม” เป็นราที่ก่อให้เกิดโรคใบไม้สีเงินในพืช โดยใบของพืชที่ติดเชื้อจะมีสีของใบซีดลงและเปลี่ยนเป็นสีเงินจนกระทั่งพืชต้นนั้นค่อยๆ เฉาตายไป ขณะที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อรายที่พบนั้นแพทย์เปิดเผยว่าหากไม่ได้รับการรักษาอาจอันตรายถึงชีวิต

ลักษณะใบเปลี่ยนเป็นสีเงินจากเชื้อรา Chondrostereum purpureum (thompson-morgan)

รายงานระบุว่า ผู้ป่วยรายนี้มีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศอินเดีย เดินทางมาพบแพทย์ด้วยอาการอ่อนเพลีย เสียงแหบ และไอ รวมถึงกลืนลำบาก โดยผลเอกซเรย์ไม่พบความผิดปกติใดๆ แต่ผลจากซีทีสแกนพบก้อนฝีในลำคอ ทางแพทย์จึงรีดหนองออกแล้วส่งไปห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาชนิดเชื้อ

ความพยายามของห้องปฏิบัติการล้มเหลวเนื่องจากไม่สามารถบอกชนิดของเชื้อได้ ทำให้ทางโรงพยาบาลส่งตัวอย่างต่อไปยังศูนย์วิจัยและอ้างอิงเชื้อราทางการแพทย์ซึ่งมีองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นพาร์ทเนอร์ แล้วจึงดำเนินการตรวจจีโนมของเชื้อกระทั่งได้ผลออกมาเป็นเชื้อราชนิดที่ไม่เคยมีบันทึกว่าเคยติดในมนุษย์ได้มาก่อน สร้างความตกตะลึงให้กับนักวิทยาศาสตร์

การสอบประวัติผู้ป่วยยังพบว่า ผู้ป่วยปฏิเสธหนักแน่นว่าไม่เคยทำวิจัยคลุกคลีกับเชื้อราต้นไม้ชนิดนี้มาก่อน แม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อราในพืชก็ตาม แต่ยอมรับว่าทำวิจัยเกี่ยวกับซากต้นไม้และเชื้อราต้นไม้ชนิดอื่นมานาน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสาขาวิจัย

การค้นพบล่าสุดตอกย้ำกระแสวิพากษ์วิจารณ์และความตื่นตระหนกจากภาพยนตร์ซีรีส์ชื่อดัง The Last Of Us ทางช่อง HBO ที่สร้างจากเกมชื่อเดียวกัน มีเนื้อหาเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อรา Ophiocordyceps หรือราแมลง ที่ติดต่อสู่มนุษย์ ควบคุมจิตใจ และทำให้กลายเป็นอสูรกาย

โดยราชนิดดังกล่าวมีอยู่จริงและติดสู่แมลง มีความสามารถควบคุมความนึกคิดได้ แต่ยังไม่พบติดต่อสู่มนุษย์พบมากตามป่าเขตร้อนชื้นรวมถึงประเทศไทย

คณะนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยและอ้างอิงเชื้อราทางการแพทย์ข้างต้น ระบุว่า เชื้อรานั้นมีอยู่ในธรรมชาติหลายล้านชนิด ในจำนวนนี้ มีเพียงไม่กี่ร้อยชนิดที่สามารถติดต่อสู่คนและสัตว์ได้

ทว่า กรณีล่าสุดนั้นเป็นราก่อโรคในต้นไม้ ซึ่งถือเป็นการติดต่อรูปแบบใหม่ ทั้งยังเป็นการติดเชื้อในบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันปกติ ทำให้เกิดคำถามว่า การติดเชื้อรานั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันปกติและบกพร่องใช่หรือไม่ (เดิมเชื่อว่าติดเฉพาะคนที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติ)

“หากเชื้อราสามารถหลบเลี่ยงกระบวนการฟาโกไซโตซิส (การถูกกลืนโดยเซลล์) และหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันได้ก็จะถือว่ากลายเป็นเชื้อก่อโรคในมนุษย์ หมายความว่า ราที่เติบโตที่อุณหภูมิ 35 ถึง 37 องศาเซลเซียสได้ก็จะกลายเป็นเชื้อก่อโรคในมนุษย์” คณะทำงาน ระบุ

ทั้งนี้ เชื้อราที่พัฒนาตัวเองจนสามารถกลายเป็นเชื้อก่อโรคในมนุษย์นั้นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดย WHO มีบัญชีเชื้อราที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ 19 ชนิด ในจำนวนนี้ มี 4 ชนิด ที่เป็นเชื้อราก่อโรคร้ายแรง

เชื้อราก่อโรคร้ายแรง 4 ชนิด ได้แก่ Aspergillus fumigatus มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 47 ถึง 88 Candida albicans หาพบได้ทั่วไปและมีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 20 ถึง 50 Cryptococcus neoformans มักติดเชื้อในสมองและ Candida Auris มีความสามารถในการหลบหลีกยาต้านเชื้อราหลายชนิด

คณะทำงานของศูนย์วิจัยมองว่า กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดน่าจะเป็นผลมาจากการคลุกคลีกับเชื้อราชนิดนี้เป็นระยะเวลานาน และเชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นกับราชนิดอื่นๆ ได้เช่นกัน

“ปัญหาโลกร้อนที่กำลังเลวร้ายลงและพฤติกรรมของอารยธรรมมนุษย์กำลังเปิดกล่องแพนโดราที่ด้านในเต็มไปด้วยโรคติดเชื้อราใหม่ๆ” (อุณหภูมิร่างกายของมนุษย์สูงเกินกว่าที่ราส่วนใหญ่จะเติบโตได้)

“เชื้อราไม่ทนความร้อนที่มีความสามารถก่อโรคในมนุษย์ได้อาจพัฒนาตัวเองให้เอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่ร้อนมากขึ้นได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติด้วยปัจจัยด้านอุณหภูมินำไปสู่การปรับตัวใหม่ส่งผลให้พวกมันสามารถเติบโตได้ในที่อุณภูมิสูงขึ้น” คณะทำงาน ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน