ไวรัสช่วยกำจัดมะเร็ง พบแฝงตัวในดีเอ็นเอมนุษย์นานนับล้านปี

ไวรัสช่วยกำจัดมะเร็ง – วันที่ 15 เม.ย. บีบีซีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบชิ้นส่วนของไวรัสที่แฝงตัวอยู่ในสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอของมนุษย์นานนับล้านปี โดยไวรัสดังกล่าวมีส่วนร่วมในกระบวนการทำลายเซลล์มะเร็งของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย

ผลงานการค้นพบดังกล่าวมาจากงานวิจัยของสถาบันวิจัย ฟรานซิส คริก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เผยให้เห็นถึงบางส่วนของไวรัสข้างต้นซึ่งจะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นหลังกลไกของเซลล์ขัดข้องจนแบ่งตัวอย่างไร้ขีดจำกัดกลายเป็นเซลล์มะเร็ง

การตื่นขึ้นของไวรัสส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดว่าเซลล์มะเร็งนั้นเป็นเซลล์ที่ติดเชื้อทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มกระบวนการทำลายเซลล์ดังกล่าวทิ้ง กลายเป็นการมีส่วนร่วมทางอ้อมของไวรัสชนิดนี้ที่ช่วยบอกให้ร่างกายทราบว่าเซลล์ใดบ้างที่กำลังขัดข้องและกลายเป็นมะเร็ง

คณะนักวิจัยของสถาบันวิจัย ฟรานซิส คริก ต้องการศึกษาและนำกระบวนการดังกล่าวมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการบำบัดผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงพัฒนาวัคซีนป้องกันมะเร็งหากเป็นไปได้

การวิจัยข้างต้นเกิดขึ้นหลังนักวิทยาศาสตร์พบความเชื่อมโยงกันระหว่างปริมาณเม็ดเลือดขาวประเภท “บี-เซลล์” กับอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปอด โดยพบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดที่รอดชีวิตนั้นมีปริมาณบี-เซลล์ที่เข้ามารุมล้อมเนื้อร้ายมากกว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิต

รายงานระบุว่า เม็ดเลือดขาว “บี-เซลล์” ทำหน้าที่เป็นเหมือนโรงงานผลิตภูมิคุ้มกันประเภท “แอนติบอดี” ซึ่งทำหน้าที่จับกับสิ่งแปลกปลอมที่จำเพาะเจาะจงเป็นการบอกเป้าหมายให้เม็ดเลือดขาวชนิดอื่นเข้าทำลาย

การค้นพบความเชื่อมโยงดังกล่าวจึงสร้างความสงสัยให้กับนักวิทยาศาสตร์ถึงกลไกการทำงานของบี-เซลล์ในการทำลายเนื้อร้ายในผู้ป่วยมะเร็งปอด ยิ่งไปกว่านั้นการศึกษากลับพบว่า บี-เซลล์ ที่เข้าไปรุมล้อมรอบเซลล์มะเร็งนั้นอยู่ในสภาวะดำเนินการทำลาย “ไวรัส”








Advertisement

ศาสตราจารย์จูเลียน ดาวน์เวิร์ด ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านงานวิจัยของสถาบัน กล่าวว่า บี-เซลล์เหล่านี้เข้าใจว่าเซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ติดเชื้อไวรัสประเภทที่ฝังตัวอยู่ในเซลล์ (endogenous retrovirus)

วงศ์รีโทรไวรัสนั้นมีสารพันธุกรรมเป็นประเภทอาร์เอ็นเอและมีจุดเด่นที่การนำสารพันธุกรรมของตัวเองที่แปลงเป็นดีเอ็นเอแล้วสอดแทรกเข้าไปในดีเอ็นเอของเซลล์ของสัตว์หรือมนุษย์ที่ติดเชื้อเพื่ออาศัยเซลล์เป็นแหล่งกบดานและโรงงานผลิตเชื้อ

การศึกษาพบว่า ดีเอ็นเอมนุษย์ที่เดิมคาดว่าเป็นของมนุษย์นั้นกว่าร้อยละ 8 เป็นสารพันธุกรรมจากไวรัสชนิดนี้แต่ต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอมนุษย์มาตั้งแต่หลายสิบล้านปีก่อน โดยดีเอ็นเอส่วนนี้ยังเหมือนกันกับดีเอ็นในวงศ์ลิงใหญ่ด้วย (great apes) ส่วนดีเอ็นเอของรีโทรไวรัสชนิดอื่นๆ น่าจะแอบเข้ามาแฝงตัวในดีเอ็นเอมนุษย์ช่วงไม่กี่พันปีที่ผ่านมา

ดีเอ็นเอที่เปรียบได้กับชุดคำสั่งของรีโทรไวรัสบางส่วนถูกหลอมรวมและนำไปใช้ประโยชน์โดยเซลล์ ขณะที่บางส่วนที่เป็นอันตรายนั้นถูกเซลล์ควบคุมเอาไว้ไม่ให้เกิดการแพร่กระจาย

ทว่า กระบวนการควบคุมดังกล่าวของเซลล์จะสุญเสียไปในเซลล์มะเร็งเนื่องจากมีสาเหตุมาจากการที่เซลล์สูญเสียการควบคุมจนแบ่งตัวอย่างไร้ขีดจำกัด จึงทำให้เซลล์ใช้ชุดคำสั่งของไวรัสผลิตไวรัสออกมา แม้จะเป็นแค่เพียงบางส่วนก็ทำให้ภูมิคุ้มกันรับรู้ถึงสิ่งแปลกปลอมได้ทันที

ศ.จอร์จ คาสซิโอทิส กล่าวว่า ระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดว่าเซลล์มะเร็งเหล่านี้เป็นเซลล์ติดเชื้อจึงเริ่มดำเนินการทำลายล้างเซลล์ กลายเป็นว่าบางส่วนของไวรัสที่ถูกผลิตออกมากลายเป็นเหมือนสัญญาณแจ้งต่อร่างกายถึงเซลล์ที่มีกระบวนการทำงานผิดปกติไปโดยปริยาย

“ภูมิคุ้มกันที่เข้ามาทำลายเซลล์ที่ถูกทำให้เข้าใจว่าติดเชื้อเหล่านี้เลยกลายเป็นว่าเข้ามาทำลายเซลล์มะเร็งแทน” ศ.คาสซิโอทิส ระบุ

การค้นพบดังกล่าวสร้างความประทับใจให้คณะวิจัยด้วยเนื่องจากเป็นบทบาทที่กลับตัลปัตรของรีโทรไวรัส ซึ่งในยุคดึกดำบรรพ์นั้นน่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคมะเร็งของมนุษย์โบราณ แต่กาลเวลาผ่านมานานหลายล้านปี กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยร่างกายของมนุษย์ต่อต้านมะเร็ง

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ผ่านวารสารออนไลน์เนเจอร์ โดยศ.คาสซิโอทิส มองว่า หากนำหลักการดังกล่าวมาใช้เป็นวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อรีโทรไวรัสเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดผู้ป่วยมะเร็ง หากสำเร็จก็อาจสามารถพัฒนาเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งได้ด้วย

แพทย์หญิงแคลร์ บรอมลีย์ จากสถาบันวิจัยมะเร็งประเทศอังกฤษ ระบุว่า มนุษย์ทุกคนมีดีเอ็นเอของรีโทรไวรัสอยู่เพราะได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ แม้วัคซีนมะเร็งจะยังต้องศึกษากันต่อไปอีกไกล แต่การค้นพบนี้อย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดผู้ป่วยมะเร็งได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน