มิถุนายนร้อนทุบสถิติ ชี้โลกร้อนผนึกเอลนีโญ-ผวาขั้วโลกใต้น้ำแข็งทิพย์

มิถุนายนร้อนทุบสถิติ – วันที่ 6 ก.ค. รอยเตอร์รายงานว่า เดือนมิ.ย. ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้นเป็นเดือนมิ.ย. ที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการบันทึกมาในประวัติศาสตร์ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยนั้นสูงกว่าค่าปกติทั้งบนบกและในทะเล ขณะที่ขั้วโลกใต้มีปริมาณน้ำแข็งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ข้อมูลดังกล่าวได้รับการเปิดเผยจากสำนักงานโครงการ Copernicus Climate Change Service (C3S) อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลาง (ECMWF) แห่งสหภาพยุโรป หรืออียู พบอุณหภูมิเฉลี่ยโลกในเดือนมิ.ย.ปีนี้ สูงขึ้นทำลายสถิติเดิมของเมื่อปี 2562

รายงานระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยโลกในเดือนมิ.ย.ปีนี้ เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกในเดือนมิ.ย. ช่วงปี 2534 ถึง 2563 เป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือโลกร้อน ผสมผสานกับสภาพภูมิอากาศระยะสั้น (ปรากฏการณ์เอลนีโญ)

สอดคล้องกับข้อมูลอุณหภูมิเฉลี่ยที่ขยับตัวสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ อินเดีย อิหร่าน แคนาดา และพุ่งสูงถึงระดับอันตรายในประเทศเม็กซิโกส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 ราย จากอากาศร้อนอบอ้าว รวมถึงจีนที่เผชิญกับเดือนมิ.ย. ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วย

การเปิดเผยข้างต้นเกิดขึ้นหลังนักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ปัญหาโลกร้อนที่ผสมผสานกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่มาถึงในปีนี้ ซึ่งส่งผลให้น้ำทะเลบริเวณใกล้ผิวน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้นทางฟากตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ด้านทวีปอเมริกา) กำลังทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกทุบสถิติใหม่

ศาสตราจารย์โจรี โรเจลจ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจากสถาบันกรานแธมของราชวิทยาลัยกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ข้อมูลที่ออกมานั้นไม่น่าแปลกใจ แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าปัญหาโลกร้อนกำลังมีแนวโน้มเลวร้ายลงต่อเนื่องอย่างน่ากังวล

“ปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังเริ่มขึ้นและทวีความกำลังแรงขึ้นตลอดหลายเดือนข้างหน้าจะยิ่งทำให้เราได้เห็นสถิติอุณหภูมิสูงใหม่อีกหลายพื้นที่ตามมาอีกอย่างแน่นอน” ศ.โรเจลจ์ ระบุ








Advertisement

ข้อมูลจาก C3S เผยด้วยว่า โลกเพิ่งเผชิญกับวันที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงที่สุดด้วยเมื่อ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยทำลายสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงที่สุดซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 4 ก.ค. ก่อนหน้า ท่ามกลางคลื่นความร้อนที่โหมกระหน่ำภาคเหนือของทวีปแอฟริกา จีน และอีกหลายพื้นที่

อุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลทั่วโลกยังขยับตัวขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา โดยพบคลื่นความร้อนรุนแรงใต้ทะเลบริเวณไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และคาบสมุทรยบอลติก อาศัยการเก็บข้อมูลจากหลายส่วน อาทิ ดาวเทียม เรือ เครื่องบิน และสถานีตรวจวัด

สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณน้ำแข็งขั้วโลกใต้ที่ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเดียวกัน โดยข้อมูลจากดาวเทียมพบว่า ขั้วโลกใต้มีปริมาณน้ำแข็งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 17

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน