อินเดียเอาไม่อยู่ หมดหน้าฝนเข้าหน้าฝุ่น-คุณภาพอากาศเมืองหลวงดิ่งเหว

อินเดียเอาไม่อยู่ – วันที่ 30 ต.ค. รอยเตอร์รายงานว่า คุณภาพอากาศกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย มีแนวโน้มเลวร้ายลง หลังอินเดียเริ่มเผชิญกับมวลอากาศเย็น ผนวกกับปัญหาการเผาไร่นาจากชาติเพื่อนบ้าน บ่งชี้ว่าอินเดียอาจต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นรุนแรงอีกครั้ง

ศูนย์นโยบายด้านพลังงานของมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า กรุงนิวเดลีเป็นมหานครที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกส่งผลให้ค่าเฉลี่ยอายุประชากรลดลงกว่า 10 ปี คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 59 ของมลพิษที่เพิ่มขึ้นมาในโลกเมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ของอินเดีย กล่าวยอมรับว่า กรุงนิวเดลีกำลังเผชิญกับวิกฤตมลพิษครั้งร้ายแรงที่สุดในฤดูแล้งนี้และคาดว่าสถานการณ์จะยังไม่ดีขึ้นในเร็ววันนี้ด้วย

สถานการณ์วิกฤตด้านมลภาวะในกรุงนิวเดลีเกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามของหน่วยงานรัฐที่รณรงค์ต่อต้านการสร้างมลภาวะทุกรูปแบบ อาทิ การเข้มงวดเรื่องการก่อสร้างให้เกิดฝุ่นน้อยลง และส่งเจ้าหน้าที่ออกไปฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดปริมาณฝุ่นขนาดใหญ่ในอากาศลง

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากสำนักงานพยากรณ์อากาศและคุณภาพอากาศ (SAFAR) เผยให้เห็นว่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของกรุงนิวเดลีที่มีประชากรกว่า 20 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้นถึงระดับที่ 346 (อากาศเลวร้ายสุด คือ 500) แปลว่า คุณภาพอากาศนั้นย่ำแย่ (เกิน 60 ถือว่าไม่ดีต่อสุขภาพ)

นอกจากนี้ บางเขตของกรุงนิวเดลียังพบค่า AQI พุ่งสูงถึงระดับ 400 แปลว่า คุณภาพอากาศเลวร้ายอย่างรุนแรง โดยค่า AQI ดังกล่าวเป็นดัชนีบ่งชี้ปริมาณของฝุ่นละเอียดชนิด PM2.5 ซึ่งสามารถหายใจเข้าไปแล้วผ่านปอดเข้าสู่กระแสเลือดของมนุษย์ได้ เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการเกิดโรคทางเดินหายใจรุนแรงหลายโรค โรคด้านหลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็ง

SAFAR ระบุว่า แม้การเผาทำลายซากพืชผลทางการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านรอบอินเดียจะลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ปัจจัยอื่น เช่น กระแสลมที่ค่อนข้างนิ่ง และรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนถนนหนทางในกรุงนิวเดลีมากถึง 10 ล้านคัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน