แพทย์เผยเคสหายาก โรคอัลไซเมอร์ อาจติดจากคนสู่คนได้ หากได้รับฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองของผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว

เว็บไซต์ต่างประเทศ รายงานว่า ศาสตราจารย์จอห์น คอลลิงจ์ หัวหน้าศูนย์โรคพรีออน จากสถาบันประสาทวิทยาชั้นนำของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน เผยข้อมูลวิจัยว่า โรคอัลไซเมอร์สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ หากได้รับฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองของผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว พร้อมย้ำว่า โรคนี้ไม่สามารถแพร่เชื้อระหว่างคนได้ผ่านกิจกรรมประจำวันหรือการดูแลตามปกติ

โดยจากวิจัยชี้ว่า การติดเชื้อนี้ไม่เหมือนกับการแพร่ระบาดของไวรัสหรือแบคทีเรีย และมักเกิดกับผู้ที่เคยผ่าตัดสมองโดยใช้เซลล์หรือเนื้อเยื่อที่อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคความจำเสื่อม แต่เหตุการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นยากมาก

การวิจัยยังพบว่า โรคพรีออนมีความคล้ายคลึงกับโรคอัลไซเมอร์ในแง่ของการแพร่กระจายของโปรตีนในสมอง โรคพรีออนเกิดจากการติดเชื้อของโปรตีนในสมองและเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่แทบจะไม่เกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม หรือติดต่อผ่านสมองหรือเนื้อเยื่อประสาทที่ติดเชื้อ

ในรายงานของสหราชอาณาจักรระหว่างปี 1959-1985 พบว่ามีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อย่างน้อย 1,848 ราย ซึ่งได้รับฮอร์โมนการเจริญเติบโตจากต่อมใต้สมองของศพ จนกระทั่งการรักษาด้วยวิธีนี้ถูกยกเลิกในปี 1985 หลังจากพบว่าผู้ป่วยบางรายเสียชีวิตด้วยโรคพรีออน Creutzfeldt-Jakob disease (CJD)

นอกจากนี้ ยังมีรายงาน 80 เคสที่พบโปรตีนอะไมลอยด์-เบตาในสมองของผู้เสียชีวิต แม้ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นต้นเหตุของโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ แต่งานวิจัยอื่นๆ บ่งชี้ว่าสารนี้อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง

ทั้งนี้ พบผู้ป่วย 5 รายที่มีข้อมูล DNA พบว่า มีเพียงรายเดียวที่มีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมของโรคอัลไซเมอร์ในช่วงปลาย และไม่มีความแปรปรวนทางพันธุกรรมที่สามารถทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มแรก

นักวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยเหล่านี้แสดงอาการที่แตกต่างจากโรคอัลไซเมอร์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางพันธุกรรม พวกเขาสันนิษฐานว่าอาการเหล่านี้อาจเกิดจากสายพันธุ์ที่แตกต่างของอะไมลอยด์-เบต้า ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบและการรักษาโรคอัลไซเมอร์ในอนาคตได้








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน