นักธรณีวิทยาพบ “หุบผาชันใต้ทะเล” – ซินหัว รายงานว่าองค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาอิสราเอล (จีเอสไอ) แถลงว่าคณะนักธรณีวิทยาอิสราเอลค้นพบ “หุบผาชันใต้ทะเล” ขนาดใหญ่ที่ก่อตัวเมื่อราวๆ 6 ล้านปีก่อนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก
หุบผาชันใต้ทะเลดังกล่าวถูกพบบริเวณลุ่มน้ำเลอแวนต์ตอนลึก ใกล้กับภูเขาใต้ทะเลเอราทอสเทนีส ห่างจากไซปรัสไปทางใต้ราว 120 กิโลเมตร และห่างจากชายฝั่งทะเลตะวันตกของอิสราเอลไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 250 กิโลเมตร
องค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาอิสราเอลระบุอีกว่าหุบผาแห่งนี้มีความกว้าง 10 กิโลเมตร และลึก 0.5 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดใต้น้ำใน “ยุคเมสซีเนียน” (Messinian) ช่วงเริ่มต้นของ “วิกฤตความเค็มยุคเมสซีเนียน” (Messinian Salinity Crisis) และการก่อตัวเกี่ยวข้องกับกระแสแรงโน้มถ่วงหนาแน่นที่คอยชะล้างและกัดเซาะพื้นทะเลในระดับความลึกที่มีนัยสำคัญ
การวิจัยให้ความกระจ่างเกี่ยวกับสภาวะสิ่งแวดล้อมที่มีความเค็มมากขึ้นในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนที่อยู่ลึกลงไปก่อนถึงจุดสูงสุดของวิกฤตการณ์ความเค็ม
ทั้งนี้ วิกฤตความเค็มยุคเมสซีเนียน เป็นเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาที่ไม่ปกติซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราว 5.6 ล้านปีก่อน โดยทะเลเมดิเตอร์เรเนียนประสบภาวะแห้งแล้งและขาดการเชื่อมต่อจากมหาสมุทรทั่วโลก และทิ้งชั้นเกลือลึกหลายกิโลเมตรเอาไว้เนื่องจากการระเหยของน้ำทะเล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: