วันที่ 13 ก.พ.รอยเตอร์รายงานว่า สถาบันวิจัยของยูเครนรายงานผลการวิเคราะห์เบื้องต้นในเหตุที่รัสเซียโจมตีกรุงเคียฟเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า รัสเซียใช้ขีปนาวุธเหนือเสียงเซอร์คอนครั้งแรกในสงครามยูเครนที่ดำเนินมาเกือบ 2 ปี นับเป็นความท้าทายครั้งใหม่ต่อการป้องกันทางอากาศของยูเครน ท่ามกลางความความช่วยเหลือทางทหารจากตะวันตกในอนาคตที่ยังไม่แน่นอน

นายโอเล็กซานเดอร์ รูวิน ผอ.สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อนิติวิทยาศาสตร์แห่งเคียฟระบุผ่านแอพพลิเคชั่นเทเลแกรมว่า ทางสถาบันเสร็จสิ้นการวิเคราะห์ชิ้นส่วนขีปนาวุธจากการโจมตีของรัสเซียเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ในเบื้องต้นแล้ว

ซากขีปนาวุธ

พร้อมกันนี้นายรูวินเผยแพร่คลิปวิดีโอเศษซากขีปนาวุธ “ในกรณีนี้เราเห็นส่วนประกอบที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะของขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกเซอร์คอน 3เอ็ม22 จากชิ้นส่วนที่แตกออกมาของเครื่องยนต์และกลไกการควบคุมที่มีเครื่องหมายบ่งชี้แสดงอยู่” นายรูวินกล่าว ขณะที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียยังไม่แสดงความเห็นต่อผลการวิเคราะห์ดังกล่าว

ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกเซอร์คอนมีพิสัย 1,000 กิโลเมตรและเดินทางได้เร็วกว่าเสียงถึง 9 เท่า ซึ่งนักวิเคราะห์ทางทหารระบุว่า ความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิกของเซอร์คอนอาจทำให้การป้องกันทางอากาศช้าลงอย่างมากรวมถึงเซอร์คอนยังมีศักยภาพในการโจมตีเป้าหมายที่มีขนาดใหญ่ ลึกและแข็งแรงด้วย








Advertisement

อย่างไรก็ตาม นายรูวินไม่ได้ระบุว่าขีปนาวุธถูกยิงจากพื้นดินหรือทะเล ส่วนร่องรอยเครื่องหมายที่กู้ได้จากซากหักพังยังบ่งชี้อีกว่า ขีปนาวุธเซอร์คอนถูกประกอบขึ้นเมื่อเร็วๆนี้

ทั้งนี้ รัสเซียใช้ขีปนาวุธและโดรนจำนวน 64 ลำโจมตีกรุงเคียฟและเมืองอื่นๆในเช้าชั่วโมงเร่งด่วนเมื่อ 7 ก.พ.ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 รายและตึกที่พักอาศัย โครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานเสียหาย

วันเดียวกัน จากข้อมูลกระทรวงกิจการภายในรัสเซีย ประกาศให้น.ส.ไคยา คาลลัส นายกรัฐมนตรีของเอสโตเนียเป็นบุคคลที่ทางการรัสเซียต้องการตัวในคดีอาญาที่ไม่เปิดเผย เนื่องจากการกระทำหลายอย่างที่เป็นปรปักษ์ต่อต้านรัสเซีย

“คนเหล่านี้กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อต้านความทรงจำประวัติศาสตร์และประเทศของเรา” นายดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินระบุ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน