สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อว.เปิดตัวโครงการ International Academic Partnership Program (IAPP) หรือโครงการหุ้นส่วนทางวิชาการระหว่างประเทศเมื่อ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา

(ภาพ สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย)

IAPP เป็นโครงการแรกที่จะให้คำแนะนำและสนับสนุนสถาบันต่างๆที่เข้าร่วมในการกำหนดแผนเชิงกลยุทธ์ด้านการศึกษาระหว่างประเทศ ศึกษาโอกาสในการร่วมมือกันระหว่างสถาบันที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน

โครงการทำจากระดับนโยบายลงมาสู่ระดับมหาวิทยาลัย โดยการมีส่วนร่วมของอว. กล่าวได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ของภาครัฐ จุดเริ่มต้นในระดับนโยบาย เป็น “โครงการแรกในประวัติศาสตร์ไทย-สหรัฐ”

สหรัฐและไทยมีความร่วมมือด้านการศึกษามาอย่างยาวนาน สมาชิกโครงการฟุลไบรต์มากกว่า 5,000 คนและความร่วมมืออื่นๆ เช่น โครงการ International Visitor Leadership Program และ Young Southeast Asian Leaders Initiative หรือ YSEALI ซึ่งสร้างเครือข่ายกว่า 15,000 คนในไทย

นอกจากนี้ยังมี American Corners -ศูนย์ข้อมูลและวัฒนธรรมอเมริกันในมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งรวมถึงจ.เชียงใหม่ มหาสารคาม ปัตตานีและยะลา

(ภาพ สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย)

สถิติจากดิ โอเพน ดอร์ส์ (The Open Doors) ระบุว่าในปี 2565-2566 จำนวนนักเรียนไทยในสหรัฐ 5,376 คน แต่ระหว่างปี 2564-2566 กลับมีนักเรียนสหรัฐในไทยจำนวน 848 คน สหรัฐจึงมุ่งที่จะเพิ่มจำนวนนักศึกษาจำนวนมาก จากการเริ่มโครงการ IAPP

นายโรเบิร์ต เอฟ.โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยระบุว่า ความร่วมมือด้านการศึกษาเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน

ในประเทศสหรัฐมีศูนย์การวิจัยที่ครอบคลุมและสาขาที่กำลังเกิดใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ สเต็มซึ่งเป็นโอกาสสำหรับนักศึกษาไทยที่จะพัฒนาความสามารถทางภาษาอังกฤษและได้รับประสบการณ์ตรงจากการลงมือปฏิบัติ

สำหรับเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกประเทศไทย นายโกเดคกล่าวว่า ไทยเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของสหรัฐ ปีนี้ครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 190 ปี เรามีความร่วมมือทั้งด้านการค้า การลงทุน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคง รวมถึงการศึกษาซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

ที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก สหรัฐจึงได้เสนอความร่วมมือนี้ขึ้นเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษามากขึ้น

“เราไม่สามารถหยุดนิ่ง เราต้องก้าวต่อไปเพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย-สหรัฐให้แข็งแกร่ง” นายโกเดคกล่าว

ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอว.กล่าวว่า เราอยากร่วมงานกับโครงการนี้และส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาไทยใช้เวลาและกำลังของตนในเรื่องนี้ โดยมองว่าเป็นโอกาสและแสดงว่า สหรัฐมองเห็นว่า เรามีศักยภาพในการที่จะร่วมมือกัน

ผู้แทนจากอว.ระบุอีกว่า ไทยและสหรัฐมีความร่วมมือมานาน ยกตัวอย่าง ทุนฟุลไบรต์ที่มีมากว่า 50 ปี ผู้ที่ได้รับทุนฟุลไบรต์ เมื่อเรียนจบกลับมาพัฒนาประเทศได้มากมาย

ดร.จันทร์เพ็ญกล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือทางวิชาการว่า ความร่วมมือทางวิชาการอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง จะสังเกตได้ว่า ในอดีต เยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกแม้แยกกันอย่างเด็ดขาด แต่ความร่วมมือทางวิชาการยังอยู่

“ประเทศไทยมีข้อจำกัด ทำทุกเรื่องโดยลำพังไม่ได้ จึงใช้ความร่วมมือ ใช้องค์ความรู้จากต่างประเทศเสริมสร้างและเขยิบขีดความสามารถของประเทศ” ดร.จันทร์เพ็ญกล่าว

อาจารย์กิตติ ประเสริฐสุข คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์กล่าวว่า จากที่ทราบ โครงการ IAPP อยากให้เพิ่มปริมาณนักศึกษาทั้งขาเข้าและขาออก เนื่องจากจำนวนนักศึกษาลดลงจำนวนมาก สหรัฐจึงอยากให้นักศึกษาอเมริกันมาเรียนแลกเปลี่ยนเยอะขึ้น และประการต่อมา การเพิ่มพูนความร่วมมือการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ อาทิ การทำวิจัยร่วมกัน แต่ยังไม่ทราบในรายละเอียด

“โครงการ IAPP ถือเป็นความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างไทย-สหรัฐที่มีความชัดเจนล่าสุุด พิจารณาจากโครงการ YSEALI ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยโอบามา (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ) เมื่อ 10 ปีมาแล้ว ดังนั้น ต้องมีข้อริเริ่มใหม่ๆ จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมา” อาจารย์กิตติกล่าว

ด้านนายชัยณรงค์ ทองบุญชื่น เจ้าหน้าที่โครงการจากสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศ หรือ Institution of Internation Education (IIE) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์ก ทำหน้าที่ประสานงานการจับคู่ระหว่างมหาวิทยาลัยสหรัฐและไทยระบุว่า หลังจากพิธีเปิดโครงการในวันนี้ (16 ก.พ.) โครงการจะมีการจัดการเสวนาทางออนไลน์ระหว่างมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมเพื่อสำรวจสาขาความร่วมมือที่สนใจร่วมกัน

เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการกล่าวต่อว่า ภายในสัปดาห์แรกหลังวันหยุดสงกรานต์ จะจัด “แคมปัสทัวร์” เชิญตัวแทนมหาวิทยาลัยจากอเมริกามาไทยลงพื้นที่เยี่ยมชมตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยน สร้างเครือข่าย

จากนั้นแต่ละมหาวิทยาลัยจะตกลงกันในประเด็นต่างๆอาทิ แต่ละฝั่งจะจัดสรรงบเท่าไหร่ สาขาความร่วมมือ เพื่อนำความสนใจ จุดแข็ง เป้าหมายของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งแตกต่างกันไปมาพัฒนาเป็นความร่วมมือระหว่างกันโดยภาครัฐจะสนับสนุนความร่วมมือนั้นๆ ต่อไป ซึ่งคาดว่าใช้เวลาราว 10 เดือนจะสามารถสรุปโครงการได้

ที่ผ่านมาสหรัฐดำเนินโครงการในเอเชียรวมถึงประเทศเมียนมาในปี 2562 ก่อนการรัฐประหาร อินเดียและจีน

ล่าสุดโครงการ IAPP ในกรีซ ซึ่งมหาวิทยาลัยสหรัฐเข้าร่วม 15 แห่งและกรีซ 5 แห่ง นายดิก คัสติน ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรมของสถานทูตระบุว่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก และคาดว่าในไทยจะยิ่งประสบความสำเร็จมากกว่า เมื่อพิจารณาว่ามีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมจากทั้งสหรัฐและไทยถึง 48 แห่ง

จากการคัดเลือกสถาบันจากทั่วภูมิภาค เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ IAPP เลือกสถาบันอุดมศึกษาสหรัฐ 19 แห่งและสถาบันอุดมศึกษาไทย 29 แห่งให้เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้กลุ่มมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการมีลักษณะเฉพาะและมีความหลากหลาย

ตามเกณฑ์พิจารณาลักษณะต่างๆ เช่น ขนาด ประเภทของสถาบัน การดำเนินงานในระดับภูมิภาค ชื่อเสียงและสาขาวิชา ตลอดจนการเน้นในเรื่องสะเต็มศึกษา

IAPP เป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยต่างๆเข้าร่วม ไม่ว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำ มหาวิทยาลัยในภูมิภาคทั้งรัฐและเอกชน อาทิ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น

สถาบันการศึกษาสหรัฐที่เข้าร่วม อาทิ วิทยาลัยชุมชนเดวิดสัน-เดวี มหาวิทยาลัยดุ๊ก มหาวิทยาลัยทัฟส์ มหาวิทยาลัยเจมส์ เมดิสัน มหาวิทยาลัยแอละแบมา มหาวิทยาลัยเมมฟิส มหาวิทยาลัยไวโอมิง เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน