เมื่อวันที่ 12 มี.ค. เดอะการ์เดียนรายงานว่า บริษัทผลิตชอปเปอร์ชื่อดังอย่าง ฮาร์เลย์ เดวิดสัน กำลังจะปิดโรงงานในรัฐวิสคอนซิน สหรัฐ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก ที่เป็นวัตถุดิบในการประกอบชอปเปอร์ กลายเป็นผลร้ายต่อต้นทุนการผลิตของบริษัทนี้

จากคำประกาศของนายทรัมป์ ทำให้ฮาร์เลย์ เดวิดสันจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที 30 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณเกือบ 100 ล้านบาท บริษัทจึงมีแผนการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศไทย แต่ถูกคัดค้านจากแรงงานชาวอเมริกันว่า หากตั้งย้ายฐานการผลิตก็เหมือนกับตบหน้าคนอเมริกัน

nytimes.com

หลังจากที่ทางการสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก กลายเป็นผลร้ายและการเพิ่มต้นทุนให้กับชอปเปอร์ชื่อดัง ประกอบกับตัวเลขยอดขายของฮาร์เลย์ที่ลดลง

ไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ยอดขายของแบรนด์ชอปเปอร์ดังนี้ลดลงถึงร้อยละ 40 รวมไปถึงราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลงถึงร้อยละ 13 ในปีนี้

นายพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ส.ส.รัฐวิสคอนซิน ถึงกับให้โฆษกหญิง นางแอชลีย์ สตรอง ออกมาสะท้อนความกังวลถึงผลเสียที่จะตามมาจากผลแห่งการทำสงครามการค้า และเตือนให้ทำเนียบขาวอย่าเดินหน้าแผนขึ้นภาษีดังกล่าว

ส่วนน.ส.เจมี คัตซ์ นักวิเคราะห์จากมอร์นิ่งสตาร์ สถาบันทางการเงินด้านการจัดการกองทุนระบุว่า ปัญหาของฮาร์เลย์ เดวิดสัน คือไม่สามารถป้อนสินค้าความต้องการใหม่ให้กับลูกค้าได้ และยิ่งมีเรื่องภาษีเข้ามาก็ยิ่งเป็นการผลักให้ลูกค้าออกห่างจากสินค้ามากขึ้น

ผู้นำสหรัฐขึ้นภาษีเหล็กจนกลายเป็นดาบสองคม/ภาพ AFP

ด้านสหภาพยุโรป ผู้นำหลายประเทศเล็งที่จะตอบโต้ทางการค้าเช่นเดียวกัน โดยสินค้าหลายชนิดที่เป็นเสมือนกับสัญลักษณ์ของสหรัฐ อย่างเหล้าวิสกี้เคนตักกี กางเกงยีนส์ลีวายส์ และฮาร์เลย์ เดวิดสัน ต่างถูกขึ้นบัญชีรายชื่อเป็นแบรนด์เสี่ยงว่าจะตกเป็นเหยื่อสงครามการค้าครั้งนี้

แม้กระทั่งนายญอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปยังบอกในรายการโทรทัศน์ด้วยว่า “อียูก็ทำเรื่องโง่ๆ ได้”

นอกจากนี้ ฮาร์เลย์ เดวิดสันยังตกเป็นเป้าโจมตีจากบรรดาแรงงานที่ทำงานในสายการผลิตหลังจะย้ายโรงงานไปที่ประเทศไทย

นายเลโอ เจอราร์ด อธิบายว่าฮาร์เลย์ เดวิดสันเหมือนกับเอกลักษณ์ของภาคการผลิตสหรัฐ พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้บริหารทบทวนแผน ซึ่งหากย้ายออกไปตั้งโรงงานที่อื่นเท่ากับว่าเป็นการตบหน้าแรงงานชาวอเมริกัน และผู้ขับขี่ฮาร์เลย์ เดวิดสันกว่าหลายหมื่นหลายพันชีวิตทั่วสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วบริษัทชอปเปอร์ชื่อดังแห่งนี้ มีโรงงานผลิตนอกสหรัฐอยู่ที่เมืองพวัล ในประเทศอินเดียอีกด้วย

businessinsider.com

ทั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฮาร์เลย์ เดวิดสันได้รับผลกระทบจากเรื่องขึ้นภาษี โดยในปี 2546 ภายใต้รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็ถูกทางสหภาพยุโรปขู่จะขึ้นภาษีนำเข้ารถชอปเปอร์ หลังบุชพยายามหาทางขึ้นภาษีเหล็กมาแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน