เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวในพิธีปิดการประชุมวิชาการสุราระดับชาติครั้งที่ 9 “สานพลังพิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชนให้พ้นภัยสุรา” จัดโดย ศวส. ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ว่า การดื่มสุราของเด็กและเยาวชนไทยเริ่มต้นที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้มีนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นประมาณ 1 ล้านคนต่อปี (อ้างอิงจากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปีพ.ศ.2557) ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทั้งกับตัวเด็ก ครอบครัว และคนอื่นๆ ในสังคม

 

โดยเฉพาะปัจจุบันที่สื่อออนไลน์ และ social media ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการโฆษณาและปลูกฝังทัศนคติที่ผิดว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย เนื่องจากมีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มฯ จำนวนมากในพื้นที่ที่เยาวชนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ เช่น รอบสถานศึกษา ชุมชน และสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีราคาถูก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการเริ่มดื่มสุราที่อายุน้อยและการดื่มหนักของเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน

 

 

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี กล่าวต่อว่า ขอประกาศเจตนารมณ์เรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนให้มีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมไทยที่ปลอดภัยจากอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนี้ 1.ให้คนไทยทุกคนร่วมแสดงฉันทามติให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีต้องไม่ริเริ่มดื่มสุรา 2.ให้รัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จากเดิมกำหนดห้ามผู้ใดให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเป็น อายุ 20 ปีบริบูรณ์เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 3.ให้รัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 32 ให้ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง และเร่งออกมาตรการห้ามจำหน่ายสุรารอบสถานศึกษาทุกประเภท (โซนนิ่ง)อย่างเป็นรูปธรรม และสถานที่สาธารณะที่เยาวชนเข้าไปใช้

 

4.ให้รัฐบาลพิจารณาการปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะๆ พร้อมเพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างจริงจัง 5.ให้ปฏิรูปการศึกษามุ่งสู่การแก้ปัญหาการใช้สุรา ยาสูบ และสารเสพติดในเด็กและเยาวชน และให้หน่วยงานการศึกษามีระบบการดูแล เฝ้าระวังและให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันการดื่มสุรา และลดผลกระทบที่ตามมาด้วยวิธีการที่เป็นมาตรฐานสากล และ 6.การทำข้อตกลงการค้าเสรี ต้องไม่ทำให้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อ่อนแอลง โดยให้ยกเว้นสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกจากการเจรจาการค้าเสรีทุกประเภท เป็นอิสระจากธุรกิจแอลกอฮอล์ข้ามชาติ เพราะต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากการดื่มสุราเป็นลำดับแรก

 

“พวกเราในฐานะนักวิชาการ และตัวแทนจากทุกภาคส่วนในสังคม เชื่อมั่นว่ารัฐบาลและผู้ใหญ่ในสังคมไทยทุกภาคส่วนพร้อมที่จะพิจารณาดำเนินการในข้อเรียกร้องตามเจตนารมณ์อย่างจริงจัง เนื่องจากเยาวชนในวันนี้คือผู้ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศชาติในอนาคต การปกป้องเด็กและเยาวชนให้พ้นภัยสุราเป็นหน้าที่ของพวกเราคนไทยทุกคน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และตัวเด็กและเยาวชนเอง” ผู้อำนวยการ ศวส. กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน