ปลัด ทส. ตั้งกรรมการสอบอธิบดีกรมอุทยานฯ ฐานปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต กรณีโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณบุคลากร กว่า 108 ล้านบาท ไปเพาะชำ 53 ล้านกล้าไม้ ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ สั่งกรมป่าไม้ สอบละเอียด

นายวิจารณ์​ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สั่งสอบอธิบดีกรมอุทยานฯ

ปลัด ทส. / เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นายวิจารณ์​ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือถึง น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวีวรรณ รักษาการอธิบดีกรมป่าไม้ ให้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต โดยสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ได้รับหนังสือร้องเรียนว่านายธัญญา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต

นายวิจารณ์ กล่าวต่อว่า กรณีโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณบุคลากรไปเพาะชำกล้าไม้ ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ ในปีงบประมาณ 2553 ประมาณเดือน ส.ค. กรมป่าไม้มีงบประมาณเหลือจ่ายของสำนักบริหารกลาง วงเงิน 108,375,100 บาท สำนักส่งเสริมการปลูกป่า ซึ่งในขณะนั้นมีนายธัญญา เป็นผอ.สำนักฯ ได้ขอเงินเหลือจ่ายดังกล่าวไปดำเนินการเพาะพันธุ์กล้าไม้ เพื่อแจกจ่ายประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน

“แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว กล้าไม้ดังกล่าวไม่สามารถเพาะชำได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน เนื่องจากต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.2553 และได้มีการเรียกเปอร์เซ็นต์เงินทอนประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ผู้ร้องเห็นว่าไม่มีการแจกจ่ายกล้าไม้ดังกล่าวจริง และมีการแจกจ่ายกล้าไม้เท็จ” นายวิจารณ์ กล่าว

ปลัด ทส. กล่าวว่า สาเหตุเพราะช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.เป็นช่วงฤดูฝน การเพาะชำกล้าไม้จะทำกันในช่วงฤดูแล้งคือเดือน มี.ค.- เม.ย. เพราะหากมีฝนตก เมล็ดที่เพาะจะเป็นเชื้อราและรากเน่า ดินที่เพาะจะยุบ เมล็ดจะไหลไปรวมตัวกันเป็นกระจุก ช่วงที่เมล็ดงอกนั้นต้องการความร้อนเป็นตัวเร่ง นอกจากนั้นในช่วงฤดูฝนไม่สามารถหาเมล็ดไม้ป่ามาเพาะได้ เพราะเมล็ดไม้จะแก่พร้อมที่จะใช้เพาะเป็นช่วงฤดูแล้งเท่านั้น และบางชนิดมีระยะเวลาที่แก่พร้อมเพาะชำแค่ 7-15 วัน หากไม่นำมาเพาะเมล็ดจะเสื่อมคุณภาพ เช่น ไม้ยางนา ไม้ตะเคียนต่างๆ ไม้สะเดา จะมีอายุเมล็ดไม้ที่ใช้เพาะชำไม่เกิน 15 วัน หลังจากร่วงลงมาจากต้นแม่แล้ว

นายวิจารณ์ กล่าวต่อว่า แต่ในบัญชีกล้าไม้ที่รายงาน กลับมีพวกกล้าไม้เหล่านี้อยู่ในรายงาน ที่สำคัญการเก็บหาเมล็ดต้องใช้เมล็ดไม้เกินกว่า 53 ล้านเมล็ด ภายในระยะเวลา 1 เดือน จึงไม่สามารถหาเมล็ดไม้ป่าได้ทัน และเป็นไปไม่ได้ที่จะเพาะชำกล้าไม้ 53 ล้านกล้า และนำไปแจกจ่ายให้เสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน ขณะที่การกรอกดินใส่ถุงในช่วงฤดูฝน ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากดินจะเปียกแฉะ ค่าแรงงานเหมาจะสูงมาก เพราะปกติจ้างเหมา 2,000 ถุงต่อ 200 บาท จะกลายเป็น 200 ถุงต่อ 200 บาท เป็นต้น

นายวิจารณ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นอธิบดีกรมป่าไม้จะต้องไปตรวจสอบบัญชีกล้าไม้ ชนิด จำนวน ระยะเวลาดำเนินการเพาะชำกล้าไม้ บัญชีรายชื่อผู้ขอกล้าไม้และสถานที่ที่นำกล้าไม้ไปปลูก บัญชีคนงานและการเบิกจ่ายงบประมาณเพาะชำกล้าไม้ รวมทั้งหลายหน่วยงานไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรได้งบประมาณมากน้อยไม่เท่ากัน ใช้อะไรพิจารณา และถึงปัจจุบัน ถ้ามีกล้าไม้ครบถ้วนถูกต้องจริง ประมาณ 53 ล้านกล้า กล้าเหล่านั้นจะกลายเป็นต้นไม้มีอายุประมาณ 7 ปี กำลังโต ตรวจสอบได้ง่ายๆ ว่ามีจริงหรือไม่ จากนั้นเมื่อได้รับข้อมูลจากกรมป่าไม้แล้ว จะต้องหารือกับพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส.ว่ามีมูลตามที่กล่าวหาหรือไม่ เพราะผู้ร้องเรียนมีชื่อและตัวตนจริง จากนั้นจึงจะตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินัยต่อไป

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ถูกตั้งกรรมการสอบปมเพาะกล้าฉาว

ด้านนายธัญญา กล่าวว่า การร้องเรียนดังกล่าวชี้แจงได้ เพราะช่วงปี 2553 เป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการปลูกป่ามาก มีการเพาะกล้าไม้ และไม่ใช่แค่สำนักส่งเสริมการปลูกป่าสำนักเดียว แต่มีอีก 2-3 สำนักในกรมป่าไม้ที่แปรงบประมาณไปเพาะกล้าไม้และปลูกป่าเช่นกัน การแปรงบประมาณไปเพาะชำกล้าไม้ ตนในฐานะผอ.สำนักสามารถทำได้ลำพัง เป็นเรื่องของอธิบดีและรัฐมนตรีด้วย เพราะเป็นนโยบาย ส่วนกล้าไม้ที่นำไปปลูกก็เป็นเรื่องของหน่วยงานภาคสนาม ว่าระยะเวลา 1 เดือนสามารถทำได้หรือไม่ เพราะกล้าไม้ที่นำไปปลูกก็มีทั้งที่ตายและรอด ไม่อย่างนั้นเราคงไม่ปลูกป่ากันมาถึงทุกวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตรวจสอบดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2561 ที่ระบุว่า กรณีมีเรื่องร้องเรียนทุจริต ให้กระทรวงดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จภายใน 7 วัน จากนั้นพิจารณาดำเนินการทางวินัยหรือทางอาญาโดยเร็ว ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายใน 30 วัน กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีเหตุน่าเชื่อถือ และเป็นกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการหรือทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน แม้ผลการตรวจสอบยังไม่อาจสรุปความผิดได้ชัดเจนถึงขั้นชี้มูลความผิด ให้พิจารณาปรับย้ายข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องไปดำรงตำแหน่งอื่นเป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ หรือเสนอให้มีการย้ายหรือโอนไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในอัตราชั่วคราวเป็นกรณีในสำนักนายกรัฐมนตรี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน