ด่วน! ‘พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร’ เสียชีวิตแล้ว ด้วยวัย 88 ปี – เมื่อเวลาประมาณ 22.35 น. วันที่ 20 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ที่ปรึกษา บริษัท มติชน(มหาชน) จำกัด อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว หลังเข้ารับการรักษาอาการป่วย ที่โรงพยาบาลตำรวจ ด้วยวัย 88 ปี

สำหรับ พล.ต.อ.วสิษฐ เป็นผู้ถวายการรับใช้ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในฐานะนายตำรวจราชสำนักประจำ และอดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ และรมช.มหาดไทย นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นนักเขียนนวนิยายเกี่ยวกับวงการตำรวจและอาชญากรรม โดยนำมาจากประสบการณ์จริง ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2541

เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุดรธานี เป็นบุตรของ คเชนทร์-เกษร เดชกุญชร มีอาชีพเป็นครู จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน เมื่อ พ.ศ. 2487 และสำเร็จการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร รุ่นลมหวล

ศึกษาต่อปริญญารัฐศาสตรบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการตำรวจ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เคยเข้ารับการอบรมหลักสูตรการสืบสวนจากสหรัฐอเมริกา และจบหลักสูตรวิชาการป้องกันประเทศ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.รุ่นที่ 23)

ชีวิตครอบครัว สมรสกับคุณหญิงทัศนา (บุนนาค) มีบุตร 2 คน คือ ว่าที่ร.ต.สุทรรศน์ เดชกุญชร และร.ต.ต.หญิง ปรีณาภา เดชกุญชร

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร

เส้นทางราชการ เริ่มจากเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2495 ต่อมาได้ลาออกไปสมัครเข้ารับราชการในกรมประมวลราชการแผ่นดิน (กรมประมวลข่าวกลาง) แล้วโอนไปรับราชการที่กองตำรวจสันติบาล กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และย้ายไปเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำในปี พ.ศ. 2513

เคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516 เป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี 2532 และปี 2539-2543 และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ระหว่าง 26 สิงหาคม-9 ธันวาคม 2533 ตำแหน่งสุดท้ายในกรมตำรวจก่อนลาออกไปเป็นรัฐมนตรีเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายกิจการพิเศษ

ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พล.ต.อ.วสิษฐ ซึ่งในขณะนั้นมียศ พ.ต.อ. เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ มีบทบาทในการดูแลความสงบบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์ รวมถึงบริเวณพระราชวังดุสิตด้วย เป็นผู้ติดต่อและเจรจากับทางฝ่ายผู้ชุมนุม และเป็นผู้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอ่านให้แก่ผู้ชุมนุมฟัง ในเวลา 05.30 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

โด่งดังในบทบาทนายตำรวจนักเขียน โดยเฉพาะนวนิยายเกี่ยวกับวงการตำรวจและอาชญากรรมที่นำเรื่องราวมาจากประสบการณ์จริงในราชการตำรวจ มีตัวเอกเป็นตำรวจที่มีอุดมการณ์ เขียนโดยใช้ชื่อจริง และนามปากกา โก้ บางกอก นิยายหลายเรื่องมีผู้นำไปสร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ โดยเฉพาะนวนิยายชุดองค์กรลับต่อต้านผู้ก่อการร้าย มีตัวเอกชื่อ ธนุส นิราลัย กับ ลำเพา สายสัทกุล ได้แก่เรื่อง สารวัตรเถื่อน, แม่ลาวเลือด, หักลิ้นช้าง, อวสานสายลับ, บ่วงบาศ และประกาศิตอสูร นอกจากนี้ยังมีผลงานเรื่อง ดงเย็น, จันทน์หอม, ลว.สุดท้าย, สารวัตรใหญ่, สันติบาล, เลือดเข้าตา, เบี้ยล่าง, พรมแดน ผลงานตีพิมพ์ล่าสุดคือหนังสือรวมเรื่องสั้น สัพเพเหระคดี เล่ม 1 และ 2

ทั้งยังเป็นคอลัมนิสต์ รวมถึงงานเขียนสารคดีเฉลิมพระเกียรติ “รอยพระยุคลบาท: บันทึกความทรงจำของพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร” ซึ่งตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อปี 2524–2543 ก่อนตีพิมพ์รวมเล่มในปี 2544

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน