เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้ ราชสกุล องคมนตรี คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นวันที่ 62 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและถวายเป็นพระราชกุศล โดยช่วงเช้ามีหน่วยงานได้แก่ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วม

201612141116399-20120402141120

เวลา 07.00 น. พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นประธานบำเพ็ญพระกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากนั้น ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระพิธีธรรม 8 รูป จากวัดอนงคารามวรมหาวิหาร และพระวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ที่สวดพระอภิธรรมมาตั้งแต่ค่ำวันที่ 13 ธ.ค.

201612141112396-20120402141120

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นวันที่ 45 ที่พระราชทานพระราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพ เบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ได้ตั้งแต่เวลา 08.00-21.00 น. (ยกเว้นช่วงมีพระราชพิธีบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท) โดยมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศสวมชุดไว้ทุกข์สุภาพเรียบร้อย เดินทางมาต่อคิวเพื่อเข้าสักการะพระบรมศพตั้งแต่เช้ามืด ซึ่งเจ้าหน้าที่เปิดให้ประชาชนเข้าทางประตูวิเศษไชยศรีอย่างเป็นระเบียบ โดยในเวลา 04.50 น. เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนเข้าทางประตูวิเศษไชยศรี จากนั้นได้เปลี่ยนทางเข้าเป็นทางประตูมณีนพรัตน์ ถนนหน้าพระลาน ในเวลา 08.30 น. เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมวัดพระศรีรัตนศาสดารามเข้าทางประตูวิเศษไชยศรี

201612141112399-20120402141120

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 04.50 น. ประชาชนกลุ่มแรกที่เข้าสักการะพระบรมศพเป็นชาวเขาที่มูลนิธิโครงการหลวงนำมาจาก 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, แม่ฮ่องสอน และพะเยา รวม 7 ชนเผ่า ได้แก่ ลาหู่ ปะหล่อง จีนยูนาน ปกาเกอะญอ ลีซอ อาข่า และม้ง พร้อมเจ้าหน้าที่โครงการหลวง รวมทั้งสิ้น 1,741 คน โดยชาวเขาต่างแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า พร้อมนำผลผลิตจากแปลงของตนเองที่ได้รับพันธุ์พืชพระราชทานจากในหลวง ร.9 มาทูลเกล้าฯ ถวายด้วย

นางพรนันทน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา

นางพรนันทน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา








Advertisement

ทั้งนี้ กลุ่มชาวเขาและเจ้าหน้าที่เดินทางมาถึงท้องสนามหลวง เวลา 00.30 น. ของวันที่ 14 ธ.ค. จากนั้นทำความสะอาดร่างกาย ล้างหน้าแปรงฟัน ที่สวนสราญรมย์ ก่อนเดินมาต่อคิวเข้าแถวเป็นกลุ่มแรก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ชาวเขาส่วนใหญ่จะอดหลับอดนอน แต่ทุกคนก็มีสีหน้ายิ้มแย้ม ไม่แสดงอาการเหนื่อยให้เห็น เพราะมีความตั้งใจจะมาถวายสักการะพระบรมศพในหลวงร.9 อย่างใกล้ชิดสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อชาวเขาทุกหมู่เหล่าในประเทศไทย

นางจ๊ะ เลาจาง ชาวเผ่าม้ง อายุ 50 ปี และลูกสาว

นางจ๊ะ เลาจาง ชาวเผ่าม้ง อายุ 50 ปี และลูกสาว

นางพรนันทน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และท่องเที่ยวมูลนิธิโครงการหลวง เปิดเผยว่า ชาวเขาทุกคนต่างรู้สึกปลาบปลื้มใจที่ได้มากราบสักการะในวันนี้ ก่อนที่จะเดินทางมาทุกคนได้เตรียมผลิตผลของตนเอง ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพันธุ์พืชเขตเหนือ อาทิ ข้าวดอย ข้าวก่ำ ข้าวใหม่ สตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์ 80 อะโวคาโด จากดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มะเขือม่วง ดอกกุหลาบ จากศูนย์พัฒนาโครงหลวงทุ่งเรา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ งานหัตถกรรม ทั้งผ้าพันคอ กางเกง เสื้อผ้า จากเผ่ามูเซอ ชุดปะหล่อง รวมถึงพืชผักอื่นๆ กะหล่ำปลีหัวใจ กระหล่ำปลีหวาน ผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาวหยก โอ๊คลีฟเขียว โอ๊คลีฟแดง บัวหิมะ ฯลฯ จากพื้นที่ทางภาคเหนือทั้งหมด ซึ่งเป็นผลผลิตจากการส่งเสริมของโครงการหลวง เพื่อให้สํานักพระราชวังนําไปเป็นอาหารแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่มากราบสักการะต่อไป

s__15671413

“สมัยก่อนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทางภาคเหนือทุกปี ชาวเขาก็จะได้รับพระราชทานพืชพันธุ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้เขามารายได้ สามารถเลี้ยงตนเองได้ แม้ระยะหลังในหลวงร.9 ไม่ได้เสด็จฯเองก็จะมีผู้แทนพระองค์คอยติดตาม คอยสอบถามอยู่เสมอ ทุกบ้านของชาวเขามีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงร.9 ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ ที่ทรงพระราชทานโครงการหลวง จนทำให้พวกเขามีอาชีพมั่นคง มีรายได้ จากการปลูกพืชเขตหนาวทดแทนฝิ่น แม้บางคนไม่เคยรับเสด็จฯ แต่ก็รักในหลวง ร.9 เพราะพ่อแม่ ปูย่าตายาย ก็ต่างเล่าให้ฟังว่า ทรงทำสิ่งใดบ้างให้กับพวกเขา ทำให้ในวันนี้มีชาวเขาที่พร้อมใจกันมาตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ” นางพรนันทน์ กล่าว

s__15671412

นายคำแดง ลายเฮิง อายุ 54 ปี ชาวเขาเผ่าปะหล่อง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เกษตรกรที่เลิกปลูกฝิ่นตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 หันมาประกอบอาชีพสุจริตด้วยการปลูกไม้ผลไม้ดอกทดแทน จนมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง กล่าวด้วยความตื้นตันใจว่า ผมเคยเฝ้าฯ รับเสด็จพระองค์อย่างใกล้ชิด 2 ครั้งที่ดอยอ่างขาง สมัยยังเป็นหนุ่มแน่น ได้เห็นชาวบ้านชาวเขาเอาของมาถวายหลายอย่าง ซึ่งตัวเองดีใจมากๆ เคยได้ถวายพระพุทธรูปด้วย

นายนาโม หมันเฮิง ชาวเผ่าปะหล่อง วัย 88 ปี

นายนาโม หมันเฮิง ชาวเผ่าปะหล่อง วัย 88 ปี

“ผมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์มาก ถ้าไม่มีในหลวงรัชกาลที่ 9 ชีวิตพวกเราคงลำบากกว่านี้ แต่ก่อนปลูกฝิ่นเลี้ยงชีพมีรายได้ แต่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ในการซื้อขายเพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย พอในหลวงรัชกาลที่ 9 มาส่งเสริมและมีเจ้าหน้าที่จากโครงการหลวงมาแนะนำการปลูกการเกษตร ช่วงแรกจึงปลูกบ๊วยและลูกพลัม โดยปัจจุบันหันมาปลูกผักอินทรีย์และชา วินาทีที่ทราบข่าวว่าพระองค์เสด็จสวรรคตก็เสียใจ ไม่เป็นอันทำการทำงาน นึกถึงพระองค์ตลอด” นายคำแดงกล่าว

201612141116383-20120402141120

นายนาโม หมันเฮิง ชาวเผ่าปะหล่อง วัย 88 ปี จาก อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อดีตเคยเดินสองเท้าจากเขตปกครองไทยใหญ่ ฝั่งประเทศเมียนมา รวมระยะเวลา 18 วัน 18 คืน พร้อมกับเพื่อนบ้านอีก 8 ครอบครัวมาอยู่ประเทศไทย โดยเผยว่า แรกเริ่มตนมาประเทศไทยหากินโดยปลูกฝิ่นปลูกข้าวโพดเลี้ยงชีพ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง กระทั่งในหลวงร.9 จะเสด็จฯมาที่ดอยอ่างขาง จึงไปเฝ้าฯ รอรับเสด็จ หวังพึ่งพระบารมีของอาศัยภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร วันนั้นตนกราบแทบพระบาท ทูลขอมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ขอเป็นลูกเป็นหลานของพระองค์ กระทั่งได้เป็นคนไทยจนถึงทุกวันนี้

นายนาโม เล่าด้วยว่า ตอนนั้นในหลวง ร.9 รับสั่งถามคณะมีใครมาบ้าง ก็ถวายรายงานว่ามีพระ ผู้สูงอายุ และเด็ก ด้วยพระเมตตาทรงรับพวกตนไว้โดยทรงมีพระบรมราชานุญาตให้อยู่ในพื้นที่ หมู่บ้านนอแล หมู่ที่ 14 ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ พร้อมทั้งพระราชทานเงินจำนวน 5,000 บาท เพื่อสร้างศาลาวัดให้ประกอบศาสนกิจ ด้วยความตื่นเต้นและดีใจตนจึงทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปซึ่งอุ้มติดตัวมาเพื่อตอบแทนพระเมตตา หลังจากนั้นประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ปลูกผักผลไม้, ดอกกุหลาบ และชา ส่งผลผลิตให้กับโครงการหลวง กระทั่งส่งเสียลูกหลานได้ร่ำเรียนมีการศึกษา เรียนจบปริญญาตรีหมดทุกคน

“ถ้าไม่มีในหลวงร.9 ผมคงไม่ได้เป็นคนไทย เมื่อรู้ว่าพระองค์สวรรคตก็ทุกข์ใจมาก กินข้าวปลาไม่ได้ 5-6 วัน ชีวิตผมเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ ภูมิใจที่ได้เป็นคนในแผ่นดินของพระองค์” นายนาโม กล่าวด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้

ทั้งนี้ พสกนิกรที่มากราบสักการะพระบรมศพทุกคนยังคงอยู่ในความโศกเศร้าเสียใจ หลายคนกอดพระบรมฉายาลักษณ์ที่นำมาจากบ้านไว้แนบอกตลอดเวลา และเมื่อได้เข้ากราบถวายสักการะพระบรมศพแล้ว สำนักพระราชวังแจกภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พิมพ์ 4 สี ขนาด 5 คูณ 7 นิ้ว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่พสกนิกรทุกคนเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย

นางจ๊ะ เลาจาง ชาวเผ่าม้ง อายุ 50 ปี เผยความรู้สึกเป็นภาษาของชนเผ่า โดยให้ลูกสาว น.ส.สาวิตรี เลาจาง อายุ 33 ปี คอยเป็นผู้แปลให้ว่า สมัยอยู่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ พวกเราไม่รู้จะทำอะไรจึงปลูกฝิ่นและทำไร่รับจ้างไปทั่ว โดยไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง เมื่อในหลวงร.9 เสด็จฯ มารับทราบปัญหา ทรงขอให้ทุกคนเลิกปลูกฝิ่น โดยพระราชทานที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 5 ไร่ ที่อ.เชียงดาว หลังจากนั้นชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น เพาะปลูกข้าวโพดหวาน ปลูกผัก แม้จะไม่ร่ำรวยแต่พออยู่พอกิน ลูกหลานมีที่ดินทำกิน

โดยวันนี้ชาวเผ่าม้งถือภาพถ่ายมาด้วย นางจ๊ะ เล่าให้ฟังว่า พ่อของตนผูกเชือกข้อพระกรพ่อหลวงกับแม่หลวง เมื่อปี 2520 ตามความเชื่อของชนเผ่าเรา คือถวายพระพรทั้งสองพระองค์ทรงพระเจริญ ไม่ให้มีโรคภัยไข้เจ็บ ภาพนี้จึงเป็นสิ่งที่มีค่าของครอบครัวเรา วันนี้ในหลวงร.9 อยู่บนฟ้าแล้ว พวกเราคิดถึงพระองค์มาก ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ พวกเราตั้งใจจะทำมาหากินด้วยความพอเพียงตามที่ท่านสั่งเสียไว้

จากนั้น เวลา 10.30 น. ดร.ดิสทัต โหตระกิตย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธานถวายภัตตาหารเพลแด่พระพิธีธรรม จำนวน 8 รูป จากวัดราชสิทธารามราชวรวิหาร และวัดจักรรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร ที่สวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีคณะในสำนักข่าวกรองแห่งชาติ, สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน