โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายข้อกฎหมายการปล่อยชั่วคราว พญ.นิธิวดี หรือหมอนิ่ม ภู่เจริญยศ และนายสันติ ทองเสม หรือทนายอี๊ด จำเลยคดีฆ่าเอ็กซ์ จักรกฤษณ์ มีหลักตามป.วิอาญา ม.108/1 ระบุ ศาลอุทธรณ์ เห็นหลักประกันน่าเชื่อ-มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ย้ำข้อเท็จจริงรายคดีต่างกัน การประกันพิจารณารายบุคคล

1482314705290

จากกรณีศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาประหารชีวิต พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ หรือหมอนิ่ม ฐานจ้างวานฆ่านายจักรกฤษณ์ หรือเอ็กซ์ พณิชย์ผาติกรรม สามีและอดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย เหตุเกิดเมื่อปี 2556 รวมทั้งสั่งประหารนายสันติ ทองเสม หรือทนายอี๊ด ทำหน้าที่จัดหาทีมฆ่าเช่นกัน ขณะที่มือปืนและคนขี่รถจักรยานยนต์ให้จำคุกตลอดชีวิต พร้อมให้ชดใช้เงิน 2.5 ล้านบาท ส่วนแม่ของหมอนิ่มให้ยกฟ้อง เนื่องจากพยานเบิกความขัดแย้งกันและเชื่อว่ารับผิดแทนลูก โดยทนายความยื่นเงินสด 2.5 ล้านบาท ขอประกันตัวหมอนิ่ม แต่ศาลชั้นต้นส่งศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนส่งตัวหมอนิ่มและทีมสังหารเข้าเรือนจำพิเศษมีนบุรี ด้านแม่ของเอ็กซ์อโหสิกรรมให้ ตามที่เคยเสนอข่าวไปนั้น

อ่านข่าว ปล่อยตัว “หมอนิ่ม” ได้ประกัน หลักทรัพย์1ล้าน ศาลชี้ไม่มีพฤติกรรมหลบหนี แต่มีเงื่อนไขห้ามออกนอกปท. ญาติรุดรับที่ทัณฑสถานหญิง

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายข้อกฎหมายการปล่อยชั่วคราว จากกรณีที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว พญ.นิธิวดี หรือหมอนิ่ม ภู่เจริญยศ และนายสันติ ทองเสม หรือทนายอี๊ด จำเลยที่ 3-4 คดีจ้างวานฆ่านายจักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม ว่าการที่ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จะต้องปรากฏเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 กล่าวคือ 1.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี 2.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 3.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น 4. ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ 5.การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

นายสืบพงษ์ กล่าวอีกว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาลตาม (2) (3) และ (5)

คงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเพียงว่าจำเลยจะหลบหนีหรือไม่ โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีภูมิลำเนาที่อยู่และประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงไม่มีพฤติการณ์ที่สงสัยว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 น่าจะหลบหนี ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณาจากข้อเท็จจริงต่างๆ ในสำนวนคดีเป็นเรื่องๆ ไป เพราะข้อเท็จจริงในแต่ละสำนวนไม่เหมือนกัน

เมื่อหลักประกันที่ผู้ร้องขอประกันน่าเชื่อถือ ศาลอุทธรณ์จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 3 และที่ 4 อันเป็นการพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยกำหนดมาตรการป้องกันการหลบหนีด้วยการห้ามจำเลยที่ 3 และที่ 4 เดินทางออกนอกราชอาณาจักรสอดคล้องกับหลักการอันเป็นสากลว่า ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน