ศาลฎีกา ยืนยกฟ้อง ติ่ง มัลลิกา ปมหมิ่น ยิ่งลักษณ์ คดี ว.5โฟร์ซีซั่นส์ เผยจำเลยมีสิทธิ์ตั้งข้อสงสัยได้ เหตุโจทก์ร่วมไม่สามารถเปิดเผยเรื่องการประชุมที่โรงแรมได้ ชี้เป็นการแสดงความคิดลักษณะเชิงตั้งคำถามมากกว่ายืนยันข้อเท็จจริง

ว.5โฟร์ซีซั่นส์ / เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ห้องพิจารณา 803 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.2493/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ร่วมกัน ยื่นฟ้อง นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุของโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 จากกรณี ว.5 โฟรซีซั่นส์

ตามฟ้องโจทก์ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 19-20 ก.พ. 2555 จำเลยได้แถลงข่าวหมิ่นประมาท น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นว่า มีพฤติการณ์และความประพฤติผิดจริยธรรม ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เสียชื่อเสียง โจทก์จึงขอให้ยึดทำลายเอกสารที่มีข้อความดังกล่าว และโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 7 วัน

โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2556 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากคำเบิกความของโจทก์และโจทก์ร่วมแตกต่างกันในเรื่องของห้องที่ใช้ในการประชุมที่โรงแรมโฟรซีซั่นส์ และข้อความที่จำเลยแถลงข่าวนั้นก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นการกล่าวหาโจทก์ร่วมในประเด็นเรื่องที่โจทก์ร่วมผิดจริยธรรมหรือไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไรบ้าง การแถลงข่าวของจำเลยจึงเป็นการติชมด้วยความสุจริตเป็นธรรม ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ขณะที่เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นว่า มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ เบิกความว่า ในวันที่ 8 ก.ย. 2555 เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่ที่ห้อง Executive Club ตั้งแต่เวลา 14.30 -23.00 น. ซึ่งมีลูกค้ามารับประทานอาหารและเครื่องดื่ม แต่พยานจำได้ว่าแต่ละคนเป็นลูกค้าที่มาใช้บริการประจำ ดังนั้นจึงแสดงว่าเรื่องที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โจทก์ร่วมเข้าร่วมประชุม น่าจะไม่ใช่เรื่องสำคัญถึงขนาดเป็นการลับที่จำเป็นต้องมาพูดคุยในสถานที่ดังกล่าว จนไม่สามารถเปิดเผยได้

ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมไม่สามารถเปิดเผยเรื่องเกี่ยวกับการประชุมที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ได้ ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่โจทก์ร่วมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่โดยตรงต้องเข้าประชุม เนื่องจากเป็นการพิจารณากฎหมายซึ่งเป็นประโยชน์ของชาติ จึงย่อมเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของโจทก์ร่วมและในฐานะประชาชนมีสิทธิ์ตั้งข้อสงสัยพฤติกรรมของโจทก์ร่วมได้

นอกจากนี้ การแสดงความเห็นของจำเลยเป็นลักษณะเชิงตั้งคำถามมากกว่ายืนยันข้อเท็จจริง อีกทั้งเมื่อโจทก์ร่วมเป็นนายกรัฐมนตรี ย่อมเป็นบุคคลที่ประชาชนสามารถตั้งข้อสงสัย ติดตามพฤติกรรมและแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยความเป็นธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) การกระทำจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนให้ยกฟ้อง

ในวันนี้ นางมัลลิกา จำเลย ได้เดินทางมาศาลพร้อมทนายความ โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนยกฟ้อง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

___________________________________________

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน