กรณีร้องเรียนปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จี้ตรวจสอบการจัดซื้อรถบรรทุก 220 คัน วงเงิน 179 ล้านบาท ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่อเค้าทุจริต ระบุมีการกำหนดสเป๊กเพิ่มเติม แล้วเรียกรับเงินจากบริษัทรถอีกคันละ 4 หมื่นบาท กินหัวคิวรวมเกือบ 10 ล้าน อ้างจะนำเงินไปให้ผู้ใหญ่ ตามที่เสอข่าวไปแล้วนั้น

อ่านข่าว จี้สอบซื้อรถกรมอุทยานฯ ร้องถึงปลัดทส. โครงการ 179 ล้าน

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า โครงการซื้อรถบรรทุกขนาด 1 ตันจำนวน 220 คันนั้นเกิดขึ้นปี 2559 ทำตามการร้องขอของพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อย รถก็ส่งมอบให้แต่ละพื้นที่ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องที่มีการร้องเรียนนั้น กรมอุทยานได้ทำหนังสือพร้อมเอกสารชี้แจงไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว

ยืนยันว่าโครงการนี้ไม่สามารถเรียกบริษัทขายรถบริษัทหนึ่งบริษัทใด มาต่อรองเป็นการเฉพาะได้ เพราะโครงการไม่ได้ใช้วิธีการเร่งด่วน หรือขั้นตอนพิเศษเนื่องจากงบประมาณค่อนข้างสูง จึงประกาศประมูลราคาตามระเบียบราชการปกติ มีบริษัทที่เสนอราคาประกวดทั้งหมด 3 บริษัท โดยบริษัทที่ได้รับโครงการคือบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุด

เมื่อถามว่า ตัวเลขที่มีการร้องเรียนว่า ต้องเก็บจากบริษัทรถดังกล่าวคันละ 40,000 บาท เป็นจริงหรือไม่ นายธัญญา กล่าวว่า ทำแบบนั้นไม่ได้เด็ดขาด ไม่มีบริษัทใดยอมแน่นอน และก่อนหน้านี้ก็ไม่มีใครรู้ว่า 1 ใน 3 บริษัทที่ชนะการประมูลนั้นคือบริษัทใด ตนก็ไม่ทราบว่า คนที่ร้องเรียนไปเอาตัวเลขเหล่านี้มาจากไหน และยืนยันว่า โครงการนี้ไม่มีการมีนอกมีในอย่างที่ถูกกล่าวหาอย่างแน่นอน ไม่รู้ว่าคนที่เอาเรื่องนี้มาพูดมีจุดประสงค์ใด เพราะมีการร้องเรียนเรื่องนี้ตั้งแต่ประมาณกลางปี 2559 และมีการชี้แจงเรื่องทั้งหมดไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

ขณะที่นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะยังไม่มีหนังสือร้องเรียนมาถึงตนเลย ซึ่งต้องรอให้มีหนังสือแจ้งมาถึงตนก่อนจึงจะทราบว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ด้าน นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม (ยธ.) ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่มั่นใจว่าในส่วนของ ศอตช.นั้น ทางนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการ ศอตช. จะได้รับการประสานเกี่ยวกับการตรวจสอบเรื่องนี้แล้วหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบนโยบายในส่วนของศอตช.ไปแล้ว ว่าให้ศอตช.ทำงานเชิงรุก เรื่องไหนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตก็ให้ดูรายละเอียด อะไรที่สามารถทำได้ก็ให้ทำทันที ไม่ต้องรอให้ตนสั่งการทุกเรื่อง ไม่ใช่ว่าเรื่องไหนเป็นข่าวก็ออกมาสั่งทีหนึ่ง โดยให้เลขานุการ ศอตช. รายงานความคืบหน้าและปัญหามาให้ตนทราบเป็นระยะ หรือมีอะไรที่ต้องการให้ตนสั่งการเพิ่มเติม ก็รายงานมาได้








Advertisement

ขณะที่ นายประยงค์ กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า ในส่วนของศอตช.นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับการร้องเรียนถึงเรื่องดังกล่าว แต่เมื่อปรากฎเป็นข่าวตามสื่อต่างๆแล้ว ก็จะต้องตรวจสอบ 2 เรื่อง คือ 1.ในฐานะเลขาธิการ ป.ป.ท. ก็จะให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีมูลความจริง ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามขั้นตอน

2.ตรวจสอบข่าวสารที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือเป็นการปล่อยข่าวกลั่นแกล้งกัน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนผลการตรวจสอบหากพบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ ทาง ป.ป.ท. ก็จะได้เนินการต่อไป แต่ถ้าเกินอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท. หรือพบว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้อง เราก็จะต้องส่งเรื่องไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน