จากกรณีนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อายุ 54 ปี อดีตข้าราชการครูที่ตกเป็นผู้ต้องคดีถูกศาลพิพากษาตัดสินให้จำคุก 3 ปี 2 เดือน ในคดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิตที่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม เมื่อปี 48 และได้รับอภัยโทษเมื่อปี 58 รวมติดคุก 1 ปี 6 เดือน ต่อมาร้องไปยังกระทรวงยุติธรรมและดีเอสไอให้รื้อคดีขึ้นมาไต่สวนใหม่ ในวันที่ 16 ม.ค.นี้ เนื่องจากเจ้าตัวที่ถูกดำเนินคดียืนยันว่าเป็นแพะรับบาปของคดีนี้ แม้จะพ้นโทษมาแล้วแต่สังคมรอบข้างและเพื่อนร่วมงานยังตราหน้าว่าเป็นฆาตกร ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

อ่านข่าว ตำรวจชุดสอบสวนอ้างมีพยานปากเอกโผล่แฉ “ครูจอมทรัพย์” จ้างให้รับผิดแทน!?

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 16 ม.ค. นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม แถลงข่าวกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ศาลจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานคดี ที่นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโครต อายุ 54 ปี อดีตครูโรงเรียน จ.สกลนคร ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 3 ปี 2 เดือน ขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเหตุเกิดเมื่อปี 2558 ยื่นรื้อฟื้นคดีใหม่ตาม พ.รบ.คดีอาญาการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ ว่าหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งรับ คำร้องขอรื้อฟื้นคดีและสั่งให้สาลจังหวัดนครพนม สืบพยานแล้วนั้นวันนี้ศาลจังหวัดนครพนมได้นัดพร้อมเพื่อกำหนดวันสืบพยานหลักฐานใหม่ โดยการนัดพร้อมศาลได้สอบถามคู่ความทั้ง ฝ่ายจำเลยและฝ่ายพนักงานอัยการโจทก์ ว่าจะสืบพยานปากใดบ้าง วันเวลาใด ดังนั้น กระบวนการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่จึงยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องสืบพยานให้สิ้นกระแสความ โดยศาลจังหวัดนครพนม นัดสืบพยานภายในวันที่ 8-10 ก.พ.

อ่านข่าว ผบ.ตร.ชี้ ถ้า “ครูจอมทรัพย์” เป็นคนผิดจริง เจอฟ้องกลับ-ฐานทำตำรวจเสื่อมเสียชื่อเสียง!

นายสืบพงษ์ กล่าวต่อว่า ในประเด็นนี้ศาลยุติธรรมขอชี้แจงถึงขั้นตอนการรื้อฟื้นคดีฯ จะดำเนินการได้เมื่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดว่าจำเลยกระทำความผิด แต่ถ้าปรากฏในภายหลังว่าพยานบุคคลที่เป็นพยานสำคัญในคดีนั้นเบิกความเท็จหรือให้การเท็จ จนกระทั่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าพยานนั้นกระทำความผิดฐานเบิกความเท็จ หรือพยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่นำมาใช้เป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีนั้นเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งประเด็นที่มีพยานหลักฐานใหม่ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด

อ่านข่าว “ครูจอมทรัพย์” ร่ำไห้หน้าบัลลังก์! ผู้พิพากษาย้ำให้ความเป็นธรรมเร็วที่สุด

ส่วนกรณีของนางจอมทรัพย์ก็มีการกล่าวอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้กระทำความผิด จึงขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยตามหลักกฎหมายนั้นศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานเบื้องต้นว่ามีมูลเพียงพอหรือไม่ในการที่จะให้รื้อฟื้นคดี ซึ่งขั้นตอนนี้ปรากฏว่าดำเนินการผ่านมาแล้วว่าคดีมีมูล จากนั้นได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ทำการวินิจฉัย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็เห็นว่าควรจะให้รื้อฟื้นคดี

นายสืบพงษ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดนครพนม ดำเนินการสืบพยานหลักฐานในชั้นการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ซึ่งศาลจะต้องดำเนินการสืบพยานจนสิ้นกระแสความว่าจำเลยนั้นเป็นผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดตามคำพิพากษาเดิมหรือไม่ หลังจากนั้นจะต้องส่งข้อเท็จจริง สำนวนการสืบพยานไปยังศาลฎีกา เพื่อมีคำวินิจฉัยและพิพากษาว่าจำเลยไม่ใช่ผู้กระทำผิด หรือยืนยันตามคำพิพากษาเดิม ซึ่งคงจะต้องใช้ระยะเวลา

เมื่อถามว่า ในอดีตเคยมีคดีอาญาที่รื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้เพียงใด นายสืบพงษ์ กล่าวยอมรับว่า เคยมี แต่ไม่บ่อยนัก ซึ่งการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายโดยศาลจะต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาหลักฐานในสำนวน

เมื่อถามว่า ระหว่างนี้หน่วยงานรัฐจะต้องเข้ามารับผิดชอบเยียวยาอย่างไร นายสืบพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ตามผลคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ได้ตัดสินคดีไปแล้ว ถือว่าจำเลยยังมีความผิดอยู่ ขณะที่การรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ก็ยังอยู่ในขั้นตอน ซึ่งศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาใหม่ว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้น จึงยังไม่มีกระบวนการเยียวยาเกิดขึ้น โดยเมื่อใดก็ตามที่ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเห็นว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ กรณีนั้นก็เป็นเรื่องที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งในเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับจำเลยตามพ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีฯ

เมื่อถามว่า เมื่อมีการตรวจสอบแล้วหากพบความบกพร่องของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม จะต้องรับผิดชอบต่อการถูกดำเนินคดีอาญาเพียงใด นายสืบพงษ์ กล่าวว่า ในขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานต้องดูว่า ในแต่ละชั้นมีปัญหาในขั้นตอนใด ก็จะต้องย้อนกลับมาศึกษาในแต่ละคดี ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักว่าบกพร่องในขั้นตอนใด บางเรื่องอาจบกพร่องโดยสุจริต หรือบางเรื่องอาจจะจงใจหรือไม่จงใจ ก็ต้องพิจารณาเป็นรายคดีไป ถ้าเป็นกรณีที่มีความจงใจในการสร้างพยานหลักฐานเท็จเกิดขึ้น ก็ต้องรับผิดทางอาญาตามกฎหมาย

“การรื้อฟื้นคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุดว่าศาลจะฟังพยานหลักฐานจำเลยเป็นผู้ไม่ได้กระทำความผิดหรือไม่ เราจึงยังไม่ทราบว่าประเด็นนี้มีข้อบกพร่องในขั้นตอนไหน” โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวย้ำและว่า ขณะนี้ยังไม่ถือว่าว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่โดยสิ้นเชิง เพราะยังต้องเข้าสู่กระบวนการสืบพยานต่อหน้าศาลแล้วทำสำนวนเสนอศาลฎีกา ส่วนคดีอื่นที่เคยการรื้อฟื้นขึ้นมานั้นมีจำนวนไม่มากในช่วงปี 2558-2559 นั้นมีเพียง 4 คดี และคดีที่กล่าวมาเป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์สั่งให้พิจารณาคดีขึ้นมาใหม่ และคดีก็ยังอยู่ในชั้นสืบพยาน ซึ่งยังไม่มีผลคำพิพากษาใหม่ว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน