ซินดี้ นำทีมยื่นหนังสือถึง “บิ๊กแป๊ะ” เร่งแก้ปัญหา ลวนลามคุกคามทางเพศช่วงเทศกาล สงกรานต์ รณรงค์ให้ประชาชนทราบถึงโทษ แนะ ตั้งจุดรับแจ้งเหตุช่วยเหลือในพื้นที่เล่นน้ำ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 3 เม.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส.สิรินยา บิชอพ หรือ ซินดี้ และเจ้าของแคมเปญ “Don’t tell me how to dress” ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายเด็กและเยาวชน และตัวแทนกลุ่มผู้เคยถูกคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์ กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เพื่อนำเสนอปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์

น.ส.สิรินยา กล่าวว่า หลายฝ่ายเริ่มออกมารณรงค์ลดอุบัติเหตุ เมาไม่ขับเทศกาลสงกรานต์ แต่อีกหนึ่งปัญหาที่น่าห่วงคือที่ทำให้กลายเป็นสงกรานต์เสื่อม คือ การลวนลามคุกคามทางเพศ ละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งตนก็เคยตกเป็นเหยื่อ ถูกลวนลามในช่วงสงกรานต์ ขณะเดียวกันผลสำรวจความคิดเห็นต่อเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 1,650 ราย อายุระหว่าง 10-40 ปี พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือ ร้อยละ 59.3 เคยถูกฉวยโอกาสถูกลวนลามคุกคามทางเพศ ทั้งถูกจับแก้ม เบียดเสียด จับมือ จับแขนและใช้สายตาจ้องมองแทะโลม ไปจนถึงถูกสัมผัสร่างกาย ล้วงอวัยวะ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

น.ส.สิรินยา กล่าวต่อว่า ที่มาวันนี้ เพื่อต้องการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทกำกับดูแลและมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา เร่งรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้โทษทางกฎหมาย หากกระทำการลวนลามคุกคามทางเพศ การละเมิดสิทธิผู้อื่น เพื่อป้องปรามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

“นอกจากนี้ ขอให้ในแต่ละแห่งที่จัดให้มีพื้นที่เล่นน้ำ ต้องมีการกำหนดจุดรับแจ้ง ระงับเหตุให้เป็นรูปธรรม โดยประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกรุงเทพมหานคร รวมถึงจังหวัดต่าง ๆ เพื่อบูรณาการรูปแบบการช่วยเหลือที่เป็นระบบและทันท่วงที รวมไปถึงการเยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ถูกกระทำอย่างถูกต้อง” น.ส.สิรินยา กล่าว

ด้าน น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากข้อมูล ผู้ที่เคยถูกลวนลามช่วงสงกรานต์ เกิดจากคนเมาสุรา นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ จึงแสดงให้เห็นว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ ในการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยพบว่ากว่าร้อยละ 40 ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นช่วงสงกรานต์ มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์

น.ส.จรีย์ กล่าวต่อว่า จึงเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยเฉพาะ ในเรื่องการห้ามขายให้กับคนเมา การขายให้เด็กและเยาวชน เนื่องจาก เป็นการเพิ่มความเสี่ยง ทั้งการกระทำการคุกคามทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว อุบัติเหตุ รวมถึง การทะเลาะวิวาท ตลอดจนร่วมกันดำเนินการเฝ้าระวังในพื้นที่เล่นน้ำ (Zoning) สงกรานต์ให้ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน