จากคดีนายธีระพงษ์ ฐิตะฐาน อายุ 24 ปี หรือ ปอนด์ นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี ถูกกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี บุกเข้าไปรุมทำร้ายในหอพักก่อนใช้ไขควงแทงศีรษะตายอย่างโหดเหี้ยม โดยเพื่อนๆ ที่อยู่ด้วยกันอีก 4 คนได้รับบาดเจ็บ เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ภายหลังเกิดเหตุนางอารีรัตน์ ชมโลก อายุ 50 ปี มารดาของผู้เสียชีวิตนำศพบุตรชายกลับไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิด ในอ.ทุ่ง ตะโก จ.ชุมพร พร้อมร้องเรียนผู้สื่อข่าวด้วยกังวลว่าจะไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะทราบว่าในกลุ่มผู้ก่อเหตุเป็นลูกคนในเครื่องแบบ หลังเป็นข่าวตร.สภ.ชะอำ สามารถตามจับกุมหนึ่งในผู้ร่วมก่อเหตุได้ จนผู้ต้องสงสัยที่เหลืออีก 15 คนรีบชิงติดต่อเข้ามอบตัว ให้การภาคเสธ ก่อนขอประกันตัวออกไป ล่าสุดเพจอีจัน เปิดข้อมูลใหม่ ระบุว่า หลังเกิดเหตุ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 ไม่ได้รับแจ้งให้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุแต่อย่างใด

ความคืบหน้า เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 มี.ค. ที่ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความ พานางอารีรัตน์ ชมโลก มารดาของนายธีรพงศ์ หรือปอนด์ ฐิตะฐาน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ที่ถูกกลุ่มวัยรุ่น 18 คน บุกเข้าไปรุมทำร้ายในหอพัก และใช้ไขควงแทงศีรษะเสียชีวิต เข้าพบนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม และนางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อขอให้พิจารณาการช่วยเหลือ คือ 1.มาตรการคุ้มครองพยาน และ 2.เงินเยียวยา ช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีอาญา

นายสงกรานต์ กล่าวว่า ในวันนี้ตนพานางอารีรัตน์มายื่นเอกสารหลักฐาน เพื่อขอให้กระทรวงยุติธรรม จะเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือเรื่องการคุ้มครองพยาน และเรื่องของค่าเสียหายในคดีอาญาด้วย สำหรับหลักฐานที่นำมายื่นในวันนี้ เป็นช่วงหนึ่งของบทสนทนาข้อความในเฟซบุ๊ก จากเพื่อนของหนึ่งในผู้ต้องหา ที่แจ้งว่ามีบุคคลอ้างมีวิธีไม่ให้ถูกดำเนินคดี ด้วยการให้ผู้ต้องหาทั้ง 18 คน ปฎิเสธข้อกล่าวหาในชั้พนักงานสอบสวน และขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น จึงนำหลักฐานตรงนี้มายื่นให้กับกระทรวงยุติธรรมพิจารณาเรื่องของการคุ้มครองผู้เสียหายในฐานะพยาน อีกทั้งในวันที่ 14 มี.ค.นี้ ตนก็จะนำหลักฐานดังกล่าว ยื่นให้กับพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. อีกด้วย

นายสงกรานต์ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะควบคุมตัวผู้ก่อเหตุทั้ง 18 ราย มาสอบปากคำที่กองบังคับการปราบปราม ในเวลาไม่เกิน 12.00 น. สวนเรื่องจะประกันตัวในชั้นสอบสวนหรือไม่นั้น เป็นดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน แต่ส่วนตัวจะเตรียมพยานหลักฐานอย่างแน่นหนา เพื่อใช้ในการคัดค้านการประกันตัว ดังนั้น ขอให้ผู้ก่อเหตุทั้ง 18 ราย ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนกองปราบปรามด้วย เพราะการปฏิเสธจะไม่เป็นผลดีต่อผู้ก่อเหตุเอง

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ จะมีพยาน 4 ปาก เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน กองปราบปรามด้วย ซึ่งพยานจำนวนนี้ยังไม่เคยให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มาก่อนด้วย ทั้งนี้ เบื้องต้นทราบว่า 18 ผู้ก่อเหตุดังกล่าว เป็นลูกหลานของตำรวจ ทหาร และนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่เกิดเหตุด้วย ซึ่งถือเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ดังนั้น การเข้ายื่นเรื่องในวันนี้ เนื่องจากมีเรื่องของผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเกรงว่าครอบครัวผู้เสียหายจะไม่ได้รับความเป็นธรรม

นางอารีรัตน์ กล่าวว่า ตนขอบคุณสื่อมวลชนที่ติดตามและช่วยนำเสนอข่าวของลูกชาย ส่วนในเรื่องของความปลอดภัยนั้น หลังจากเกิดเหตุ ก็สังเกตเห็นว่ามีผู้ขี่รถจักรยานยนต์มาวนเวียนอยู่ละแวกบ้าน จึงเกรงว่าอาจจะไม่ได้รับความปลอดภัย

ด้าน นายธวัชชัย กล่าวว่า ทางกระทรวงยุติธรรมจะรับเรื่องดังกล่าวไว้ เบื้องต้นทราบว่าทางยุติธรรมจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ได้เข้ามาดำเนินการเรื่องนี้แล้ว โดยในวันที่ 28 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมพิจารณาการช่วยเหลือเยียวยาตามพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จําเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ซึ่งจะมีการพิจารณาว่าทางกระทรวงยุติธรรมจะมีการช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง

ส่วนมาตรการคุ้มครองพยานนั้น จะเป็นหน้าที่ของกรมคุ้มครองสิทธิฯ ที่จะต้องพิจารณาว่าจะให้การช่วยเหลืออย่างไร ทั้งนี้ หากทางครอบครัวต้องการให้กระทรวงยุติธรรมช่วยเหลือในเรื่องของทนายความ ก็สามารถติดต่อมายังกองทุนยุติธรรมได้ ซึ่งทางเรายินดีออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ ทั้งค่าเดินทางและค่าทนายความ เพราะการดำเนินการดังกล่าว เป็นการช่วยเหลือผู้ยากจนและผู้ที่ไม่มีทนายความในการต่อสู้คดี

นางนงภรณ์ กล่าวว่า หลังจากรับเรื่องแล้ว ทางกรมคุ้มครองสิทธิจะต้องขอพิจารณาข้อมูลที่ได้รับจากทางครอบครัวผู้เสียหายก่อน ว่าจะสามารถคุ้มครองพยานอย่างไรได้บ้าง อีกทั้ง หากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ได้มีการจัดชุดคุ้มครองพยานแล้ว ก็อาจจะเป็นการทำงานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือถ้ายังไม่มีการคุ้มครองพยาน ทางเราก็ยินดีที่จะจัดเจ้าหน้าที่ดูแล ซึ่งจะต้องดูว่ามีความจำเป็นที่ต้องให้พยานไปพักอาศัยอยู่ที่เซฟเฮ้าส์ หรือยังสามารถพักอยู่ที่บ้านของตัวเองได้ ซึ่งการพิจารณาเราจะดำเนินการด้วยความรวดเร็ว

นางนงภรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากพยานที่ต้องเข้ารับการคุ้มครองพยานอาจจะต้องถูกริดรอนสิทธิบางประเภทด้วย เช่น พยานที่อยู่ในการคุ้มครองพยานจะต้องงดใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเอง และหากต้องการติดต่อออกไปยังภายนอก ก็จะต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อน จึงจะสามารถทำได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน