ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง 32 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ไม่สั่งพักงาน “เอ๋ ปารีณา-กรณ์” รวม 9 ส.ส. รอดแล้ว!

จากกรณีรายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า ในการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 26 มิ.ย. เวลา 13.30 น. จะพิจารณารับหรือไม่รับกรณีคำร้องที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยว่า 41 ส.ส.ที่ถือครองหุ้นสื่อ เข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่

ซึ่งมีประเด็นที่ นายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อของ 27 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ยื่นขอให้ศาลจำหน่ายคดีเนื่องจากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นผู้ยื่นเรื่องต่อประธานสภา เสนอเรื่องดังกล่าวเป็นหนังสือ ไม่ได้ทำเป็นคำร้อง ถือว่าไม่ถูกต้องตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดี กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 จำนวน 2 คำร้อง โดยขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. จำนวน 41 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่

โดยผู้ร้องขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของ ส.ส. จำนวน 41 คน ผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง เนื่องจาก ส.ส. จำนวน 41 คน เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกสภาพของ ส.ส. ของผู้ถูกร้องทั้ง 41 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

ศาลประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” ซึ่งก่อนที่จะรับคำร้องไว้พิจารณาต่อไปได้ ยังจำเป็นต้องตรวจสอบวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ผู้ถูกร้องทั้ง 41 คน ถือหุ้นอยู่ว่า เป็นวัตถุที่ประสงค์ที่จะประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่

เมื่อตรวจสอบจากเอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องแล้ว ปรากฏว่าหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทของนายศาสตรา ศรีปาน, นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์, น.ส.ภริม พูลเจริญ, น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ และนายจักรพันธ์ พรนิมิต ตามคำร้องที่หนึ่ง และนายกรณ์ จาติกวณิช, นายประมวล พงศ์ถาวราเดช และนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ตามคำร้องที่สอง

ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ที่จะเป็นลักษณะเข้าข่าย อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส. ของผู้ถูกร้อง จำนวน 9 คน ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) แต่อย่างใด จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องในส่วนของผู้ถูกร้อง จำนวน 9 คน ไว้พิจารณาวินิจฉัย

สำหรับคำร้องของผู้ร้องในส่วนของผู้ถูกร้องที่เหลือ จำนวน 32 คน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง ประกอบ พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (5) แล้ว ศาลจึงสั่งรับคำร้องของผู้ถูกร้อง 32 คน ไว้พิจารณาวินิจฉัย

สำหรับคำขอให้ผู้ถูกร้องทั้ง 32 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติเงื่อนไขไว้ว่าจะต้อง ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง แต่ในคดีนี้ผู้ร้องไม่ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง คงมีเอกสารประกอบคำร้องเพียงหนังสือรับรองห้างหุ่นส่วนหรือบริษัทระบุรายละเอียดวัตถุที่ประสงค์กับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น

จึงยังไม่มีความชัดเจนว่า ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจใด ซึ่งศาลจะต้องดำเนินการไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงให้ยุติต่อไป เมื่อยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ถูกร้อง จำนวน 32 คน มีกรณีตามที่ถูกร้อง ในชั้นนี้ จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 32 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน