อธิบดีแจงยิบ ปม คุกวีไอพี – เค็กวันเกิด เก่ง ลายพราง พาพิสูจน์ถึงในเรือนจำ

คุกวีไอพี / เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าว “เปิดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครไขข้อสงสัย… มีคุกวีไอพีจริงหรือ”

เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ได้รับทราบถึงการควบคุมดูแลและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังภายในเรือนจำ พร้อมนำเยี่ยมสถานที่จริงภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครกรมราชทัณฑ์

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับอดีตผู้ต้องขัง 3 กรณี ที่ตกเป็นข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ในวันนี้ตนจึงขอชี้แจงให้ทราบว่า 1.กรณีมีภาพของนักโทษชายสนธิ ลิ้มทองกุล เดินอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ โดยไร้การควบคุม จึงมีคนสงสัยว่า ยังอยู่ในการควบคุม หรือ ถูกพักการลงโทษ ให้อิสระนั้น

ขอยืนยันว่า นายสนธิ ยังเป็นผู้ต้องขังอยู่ ไม่ได้ปล่อยหรือลดโทษ แต่ที่ภาพที่เห็นนั้น นายสนธิ จะต้องออกไป พบแพทย์เฉพาะทาง ตามไปนัดของแพทย์ จะเห็นว่าโรงพยาบาลของเรามีแห่งเดียว ขณะที่เรือนจำทั่วประเทศมีทั้งหมด 143 แห่ง เรายอมรับว่าศักยภาพในการรักษาโรคเฉพาะทาง เรายังด้อยประสิทธิภาพอยู่

เราถือว่า สุขภาพของผู้ต้องขังเป็นเรื่องสำคัญ กรณีที่ผู้ต้องขังจำเป็นต้องกรณีพบแพทย์เฉพาะทางต่อเนื่อง โดยทางแพทย์ของโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ ไม่สามารถรักษาได้ เราก็จะส่งตัวไปรักษาตามโรงพยาบาลทางราชการ ไม่เฉพาะแค่ผู้ต้องขังเรือนจำคลองเปรมเท่านั้น เรือนจำต่างๆก็มีการส่งต้องส่งผู้ต้องขังไปยังรักษาเช่นกัน

กรณีของนายสนธิ ได้ออกไปพบแพทย์ในลักษณะ ไปเช้า-เย็นก็กลับเข้าสู่การควบคุมของกรมราชทัณฑ์ และนอกจากนี้ เสื้อผ้าที่สวมอยู่นั้น ก็เป็นเสื้อของกรมราชทัณฑ์ที่แจกจ่ายให้กับผู้ต้องขัง

เจ้าหน้าที่ถ่ายเอง เก่ง ลายพราง ถือเค้กวันเกิด

กรณีที่ 2 น.ช.เก่ง ลายพราง ผู้ต้องขังคดียาเสพติด ที่มีการถ่ายรูปคู่กับเค้กชิ้นหนึ่งลงโซเชียลนั้น ทำให้มีข้อสงสัยว่าเป็นการดูแลเป็นพิเศษหรือไม่นั้น ขณะนี้ทางกรมราชทัณฑ์เปิดให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางแอพพลิเคชั่นไลน์ได้แล้ว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ประหยัดเวลาลดค่าใช้จ่าย สามารถเยี่ยมญาติจากทางไกลได้ โดยการเยี่ยมแบบระบบดังกล่าว ทางญาติจะต้องแสดงเอกสารยืนยันตัวตน ว่าเป็นญาติกับทางผู้ต้องขังจริง

แอดมินที่เป็นเจ้าหน้าที่ของเรือนจำ ก็จะรับเป็นเพื่อนและอยู่ในกลุ่มไลน์ จะมีการเฟสทามคุยกัน โดยระหว่างคุยก็จะอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตลอด และจะจำกัดครั้งละไม่เกิน 10 คน เท่านั้น

สำหรับเค้กที่เก่ง ลายพราง ถ่ายรูปถือนั้น ทางญาติได้ติดต่อซื้อเค้ก ที่ แผนกคหกรรม ฝ่ายฝึกวิชาชีพ ในเรือนจำทำ ส่งให้ผ่านเจ้าหน้าที่ควบคุม ทางเจ้าหน้าที่จึงถ่ายรูปเพื่อยืนยัน ว่าส่งเค้กให้ถึงผู้ต้องขังจริง

เนื่องจาก มักเกิดเหตุการณ์ที่ทางผู้ต้องขัง ต้องการจะให้ทางญาติซื้อของให้บ่อยครั้ง และนำไปแจกจ่ายเพื่อนร่วมขัง และบอกว่าตัวเองยังไม่ได้รับของ ทำให้ทางผู้คุมเดือนร้อน จึงได้มีการถ่ายภาพเป็นหลักฐานเท่านั้น

โดยปัจจุบันทางธนาครกรุงไทย ได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ ญาติสามารถนำเงินมาฝากกับตู้ธนาคารกรุงไทย ให้ไปยังบัญชีของกรมราชทัณฑ์ และเงินจะไปถึงตัวผู้ต้องขัง คนละไม่เกิน 300 บาทต่อวัน หากผู้ต้องขังจะใช้ ก็สามารถแสกนนิ้ว และซื้อของตามร้านค้าภายในเรือนจำได้เลย

ยันไม่มี คุกวีไอพี

กรณีที่ 3. กรณีที่สงสัยว่า ในคุกเป็นแดนสวรรค์ มีห้องพิเศษหรือไม่นั้น เรามีนักโทษ 350,000 คน จากเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง ทั่วประเทศ ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน เราให้ความเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ให้นอนกับพื้น แจกผ้าห่ม 3 ผืน ไว้สำหรับปูนอน ม้วนเป็นหมอน และห่มเวลาหนาว

วีไอพี ที่หลายคนสนใจ คาดว่าคงจะเป็นห้องน้ำ เพราะห้องน้ำเรามี 2 แบบ คือแบบนั่งยอง และชักโครก ซึ่งแบบชักโครก ส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นผู้ต้องขังที่พิการหรือชรา ที่จะใช้

ส่วนกรณีของนายสุริยะใส กตะศิลา แกนนำพันธมิตร อดีตผู้ต้องขัง มีหลายประเด็นที่พูด ถึง อาทิเรื่องการละเมิดสิทธิ์มนุษย์ชน ใช้ตรวนล่ามนักโทษนั้น ก่อนหน้านี้ เกิดภาพไม่สวยงามขึ้น ว่าเหตุใดเราจึงจำเป็นต้องใช้ตรวน

แต่ปัจจุบันเราเลี่ยงปัญหา ปรับเปลี่ยนเป็นใช้กุญแจข้อมือและข้อเท้า ที่ซื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้แทน

โดยสาเหตุที่ใช้ตรวจนั้น เพราะเจ้าหน้าที่เรามีน้อย หากพาผู้ต้องขังไปศาลและอาศัยจังหวะเพื่อหลบหนี เกรงว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องพันธนาการเพื่อป้องกันอันตราย แต่เราใช้สำหรับผู้ต้องขังที่จำเป็น หากเป็น เด็ก สตรี คนชรา คนท้อง เราก็ไม่ได้ใช้

เผย4สาเหตุนักโทษเสียชีวิต

สำหรับการเสียชีวิตของนักโทษในปัจจุบัน มี 4 ลักษณะ คือ 1. เสียชีวิตธรรมชาติด้วยโรคภัยไข้เจ็บ 2. เสียชีวิตเพราะผู้คุม ในอดีตจะมีนักโทษที่แหกคุกและไปปะทะกับเจ้าหน้าที่ผู้คุม จึงทำให้เกิดปะทะกัน ต่อสู้กันทำให้เสียชีวิต ซึ่งประเด็นนี้ปัจจุบันไม่มีแล้ว หรือหากมีผู้คุมคนดังกล่าวก็จะต้องถูกตรวจสอบข้อเท็จจริง

และ 3.เสียชีวิตด้วยการปะทะกันเอง กรณีนี้มักเกิดบ่อยในช่วงเทศกาลต่างๆ มักจะมีผู้ต้องขังคดีดื่มสุราและทะเลาะวิวาทเข้ามาอยู่ในคุกเพื่อรอออก เนื่องจากไม่มีเงินประกันตัว ครั้งแรกที่เข้ามา ก็จะค่อนข้างแออัด บางคน เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง กลางคืน มักจะมีอาการ อยากสุรา จะร้องโอดโอย

สร้างความรำคาญให้กับผู้ต้องขังรายอื่น จึงมีการรุมทำร้ายกันจนเสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก็จะมีการสั่งย้าย ผบ.ในเรือนจำนั้น เนื่องจากไม่มีการแยกผู้ต้องขัง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้ต้องขังพยายามฆ่าตัวตายอีกสาเหตุด้วย

สำหรับกรณีที่มี ผู้ต้องขังได้ทานอาหารที่พิเศษกว่าปกตินั้น ในปัจจุบันพี่น้องประชาชนและองค์กรเอกชนบางส่วน เห็นความทุขก์ของผู้ต้องขัง อยากทำบุญเป็นการเลี้ยงอาหาร เหมือนกรณีไปเลี้ยงอาหารบ้านคนชรา เรื่องเหล่านี้ เรือนจำไม่ได้สกัดกั้น เรายินดีตอบรับ เพราะงบประมาณที่ได้ค่อนข้างจำกัด แต่ละคน ค่าอาหาร 3 มื้อ ในราคา 25 บาทเท่านั้น

ทำให้อาหารการกินไม่ค่อยดีมากนัก เมื่อมีผู้เสนอมาว่าจะเลี้ยงอาหาร เราก็รับไว้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น สำหรับสังคมของผู้ต้องขังเอง จะมีผู้ที่อยากมีความสำคัญ ได้รับการยกย่อง จะใช้วิธีนี้ โดยการให้ญาติ มาเป็นหน้าม้า ทำหนังสือมาแจ้งว่าจะนำอาหารมาเลี้ยงทุกคน ซึ่ง เราจะมารู้ทีหลังก็ตอนที่มีการเลี้ยงอาหารจบแล้ว

นอกจากนี้ หากผู้ต้องขังอยากจะทานอาหารเมนูอื่น ก็สามารถซื้ออาหารที่เรือนจำจำหน่าย สามารถสั่งจากใบสั่งซื้ออาหารสำเร็จรูป กากบาทไปที่รหัสสินค้า และจะมีการตัดยอดเงินจากบัญชีของผู้ต้องขัง

ไม่มีใครได้สิทธิพิเศษ

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางและนโยบายของกรมราชทัณฑ์ในปัจจุบัน ยังคงยึดถือระเบียบปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มิได้ให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งตามที่สังคมเข้าใจ โดยยึดถือแนวทางและนโยบาย 3 ส. 7 ก. ซึ่งหนึ่งใน 3 ส. ที่ประกอบด้วย สะอาด สุจริต และเสมอภาค นั้นยังคงนำแนวทาง ส. ที่ 3 ความเสมอภาค

สร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันด้วยความเสมอภาค ตามแนวปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักสิทธิมนุษยชน

ซึ่งประกอบไปด้วย 1. ด้านการควบคุม ซึ่งกรมราชทัณฑ์ ได้กำหนดให้มีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในแต่ละประเภท รวมถึงการใช้เครื่องพันธนาการการตรวจค้นและอื่นๆที่ดำเนินการอย่างเคร่งครัด 2. ด้านวินัยการลงโทษและการร้องทุกข์

โดยการลงโทษทางวินัยต้องคำนึงถึงหลักการของมนุษยธรรม งดเว้นการลงโทษอย่างโหดร้าย ทารุณ อีกทั้งผู้ต้องขังยังสามารถร้องทุกข์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ได้อย่างเต็มที่

3.การเยี่ยมและการติดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งอยู่ภายใต้ระเบียบกฏเกณฑ์และข้อบังคับที่กรมราชทัณฑ์กำหนด 4. สภาพแวดล้อมทางกายภาพของเรือนจำได้มีการจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตและการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังที่เหมาะสม

5.ที่พักอาศัยเรือนจำได้จัดให้มีห้องนอนที่เหมาะสม ซึ่งคำนึงถึงสุขลักษณะ โดยเฉพาะพื้นที่นอนอย่างน้อยที่สุดต้องไม่น้อยกว่า 1.2 ตารางเมตรต่อคน มีอากาศที่ถ่ายเท ระบายความร้อน มีแสงสว่าง การรักษาความสะอาดและการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ต้องขังตลอด จนการจัดการขับถ่ายของเสียและสิ่งปฏิกูลที่เหมาะสมถูกหลักสุขาภิบาล

6.การพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ส่งเสริมด้านการศึกษาการทำงานอบรมฝึกวิชาชีพ 7.การให้บริการด้านการแพทย์และอนามัยของผู้ต้องขังโดยทุกเรือนจำทัณฑสถาน จัดให้มีสถานพยาบาล ซึ่งผู้ต้องขังได้รับสิทธิตามข้อกฎหมายด้านการรักษาพยาบาล

8. การเข้าถึงบริการและสวัสดิการผู้ต้องขัง ซึ่งจะได้รับอาหารที่สะอาดมีประโยชน์และคุณค่าตามความจำเป็นของสภาพร่างกาย จัดหาน้ำดื่มที่สะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย รวมถึงเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มและที่นอนที่สะอาดเหมาะสมกับสภาพอากาศ จัดสรรเครื่องนอนให้กับผู้ต้องขังอย่างพอเพียง ซึ่งมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์เอง ยังคงประสบปัญหาผู้ต้องขังมีจำนวนมากซึ่งมีถึง 356,910 คน จึงทำให้เกิดข้อจำกัดหลายประการในการดูแลผู้ต้องขัง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอหรือสถานที่ในการควบคุมคับแคบเกิดความแออัด ซึ่งกรมราชทัณฑ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

พาพิสูจน์ทั้ง7แดนคุก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากแถลงข่าวเสร็จสิ้นนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้ต้องขัง และมาเดินทางมาร่วมรับฟัง กล่าวเสริมว่า ไม่มีแดนวีไอพีในเรือนจำ โดยผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ไม่ต้องทำงานจะมองว่าเป็นวีไอพี ผู้มีอิทธิพลหรือไม่

อีกทั้งในเรือนจำมีสังคมหากใครเข้ามาใหม่ก็จะต้องไปอยู่กลุ่มที่มาจากแถวบ้านเดียวกันอยู่แล้ว ไม่มีใครจะมาอยู่คนเดียว ส่วนตัวมองว่าคนที่เข้ามาอยู่เพียงไม่กี่เดือน แต่พูดบรรยายภาพชัดเจนมากเหมือนอยู่มานาน

ต่อมาเจ้าหน้าที่พากลุ่มผู้สื่อข่าว เดินเยี่ยมชมทั้งหมดภายในเรือนจำ โดยเริ่มจากแดน 1 ซึ่งเป็นแดนที่คอยรับนักโทษใหม่ จะต้องเข้ามาอยู่ในแดน 1 นี้อย่างน้อย 15 วัน ก่อนที่จะมีการกระจายนักโทษไปในแดนต่างๆ ภายในบริเวณนี้ถูกจัดเรียงทุกอย่างเรียบร้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้พาเข้าเยี่ยมชมห้องพักที่มีชื่อว่า วีไอซี อาจจะเป็นห้องที่มีบุคคลภายนอกเข้าใจว่าเป็นห้องวีไอพี

แต่ห้องนี้ใช้สำหรับผู้ต้องขังใหม่ เป็นห้องพัดลม มีห้องน้ำภายใน 2 ห้องแบบชักโครก โดยกำแพงห้องน้ำมีความสูงเพียงแค่หัวเข่า เพื่อผู้คุมมองเห็น ทั้งนี้ยังทีวีที่ทางเจ้าหน้าที่จะเป็นคนเลือกรายการและภาพยนตร์มาเปิดเอง ห้องนี้พักทั้งหมด 15 คน แต่ละคนจะมีผ้าห่มคนละ 3 ผืน ผืนที่หนึ่งใช้สำหรับปูนอน ผืนที่ 2 สำหรับม้วนเป็นหมอน ผืนที่ 3 ใช่สำหรับห่ม

โดยห้องนี้มีชื่อของนช.ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ(ดีเอสไอ) ที่ถูกคุมขังในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา พักอยู่ในห้องนี้ด้วย

จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้พากลุ่มผู้สื่อข่าว เยี่ยมชมในแดนที่ 3 ที่คุมขังนักโทษที่มีการตัดสินคดีเด็ดขาดแล้ว ซึ่งในแดนนี้จะมีการให้นักโทษผลิตเค้ก คุกกี้ พิซซ่า ตามออร์เดอร์ที่ทางด้านนอกสั่งมาด้วย ซึ่งเค้กที่เก่ง ลายพรางได้ก็มีการทำขึ้นที่นี้

จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้พาผู้สื่อข่าวเข้าเยี่ยมชมที่แดน 7 และเข้าเยี่ยมชมจุดทำอาหารที่ให้นักโทษรับประทานซึ่งภายในนี้มีกะทะขนาดใหญ่กว่า 10 กะทะ ที่ใช้สำหรับปรุงอาหาร และเครื่องหุงข้าวขนาดใหญ่ กว่า 8 เครื่อง โดยข้าวทั้งหมดเป็นข้าวสารสีขาวไม่ใช่ข้าวแดงเช่นในอดีต

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้พากลุ่มผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมจุดผลิตงานไม้ และงานหวาย เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ไม้แขวนเสื้อ ของที่ระลึกที่เกี่ยวกับงานไม้ แล้วนำไปขายภายนอก โดยกลุ่มผู้ต้องขังที่มีส่วนผลิตจะได้ส่วนแบ่งจากการขายถึง 59 เปอร์เซ็นต์

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน