เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่โรงเรียนศึกษานารี นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.) พร้อมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เดินทางมายังสนามสอบ ร.ร.ศึกษานารี เพื่อติดตามการรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งสูงของ สพฐ.ประจำปีการศึกษา 2560 ก่อนเปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยม ว่า ได้รับรายงานตัวเลขการรับนักเรียนของโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง 281 แห่ง พบว่าในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีที่นั่งสามารถรับได้ 99,812 คน จากจำนวนสมัครทั้งสิ้น 249,530 คน คิดเป็นอัตราการแข่งขัน 1:2.5

ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีที่นั่งที่สามารถรับได้ 94,959 คน มีจำนวนผู้สมัคร 207,810 คน คิดเป็นอัตราการแข่งขัน 1:2 ซึ่ง สพฐ.กำชับให้โรงเรียนจัดสอบด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม พร้อมกันนั้น สพฐ.ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการรับนักเรียนเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบด้วย สำหรับภาพรวมการรับนักเรียนเบื้องต้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ในส่วนของโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงปีนี้พบว่าอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้นเล็กน้อย แต่ภาพรวมทั่วประเทศอัตราการแข่งขันโดยเฉลี่ยจะลดลงเนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรลดลง อย่างไรก็ตาม โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯและโรงเรียนใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดยังเป็นที่นิยมของผู้ปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่ดูอัตราการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นหลัก และโรงเรียนเหล่านี้ก็มีตัวเลขนักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยค่อนข้างดี

“สพฐ.ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพสถานศึกษา และดำเนินการมาต่อเนื่องให้มีคุณภาพทัดเทียมกัน ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานครโรงเรียนยอดนิยมยังไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ในสามจังหวัดเริ่มดีขึ้นดูได้จากมีอัตราการแข่งขันสูงเพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัด โดยแผนการรับนักเรียนปีนี้มุ่งหวังให้นักเรียนทุกคนต้องมีที่ศึกษาเล่าเรียน และไม่เสียค่าใช้จ่าย การเปิดรับนักเรียนต้องทีความโปร่งใส ซึ่งการศึกษาในแต่ละโรงเรียนต้องมีคุณภาพเท่าเทียม ไม่จำกัดแค่โรงเรียนดี โรงเรียนดังเท่านั้น และต้องสามารถตอบข้อซักถามของผู้ปกครองนักเรียนได้ ที่สำคัญคือมีแผนสำรองรับนักเรียนในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษา หากมีจำนวนนักเรียนเกินที่นั่งที่กำหนด ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เข้ามาช่วยบริหารจัดการ ทั้งการจับฉลาก หรือการยึดสัดส่วนของพื้นที่ใกล้บ้านให้เด็กได้รับการศึกษาต่อ หรือการสอบเข้าตามความสามารถพิเศษของนักเรียน” ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.กล่าว

นายอำนาจ กล่าวต่อว่า สำหรับโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงทั่วประเทศที่มีการจับฉลาก แบ่งเป็นสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 2 จำนวน 4 โรง ประกอบด้วย ร.ร.เตรียมอุดมพัฒนาการน้อมเกล้า ร.ร. เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)2 ร.ร.พรตพิทยพยัต สังกัด สพม.3 จำนวน 5 โรงได้แก่ ร.ร.บางบัวทอง ร.ร.เบญจมราชานุสรณ์ ร.ร.ปากเกร็ด ร.ร.รัตนาธิเบศร์ ร.ร.เสาไห้ วิมลวิทยานุกูล สังกัด สพม.28 คือ ร.ร.ศรีษะเกษวิทยาลัย สังกัด สพม.30 จำนวน 3 โรง เริ่มจากร.ร.แก่งคร้อวิทยา ร.ร.ภูเขียว และร.ร.สตรีชัยภูมิ

ส่วนโรงเรียนที่มีสัดส่วนการแข่งขันสูง ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งมีผู้สมัครสอบมากที่สุด อันดับที่ 1 คือร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย อันดับที่ 2 ร.ร.บางปะกอกวิทยาลัย อันดับที่ 3 ร.ร.เทพศิรินทร์ อันดับที่ 4 ร.ร.สามเสนวิทยาลัย และระดับชั้น ม.4 อันดับที่ 1 ร.ร.โยธินบูรณะ อันดับที่ 2 ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย อันดับที่ 3 ร.ร.เทพศิรินทร์ อันดับที่ 4 ร.ร.โพธิสารวิทยากร








Advertisement

ทั้งนี้ สพฐ.ได้ประสานหน่วยงานท้องถิ่น กทม. โรงเรียนเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อดูแลให้เด็กต้องมีที่เรียนแน่นอน สำหรับนักเรียนที่สอบในโรงเรียนทีมีอัตราแข่งขันสูงแต่เมื่อประกาศผลแล้วไม่ผ่าน ผู้ปกครองสามารถแสดงความจำนงที่ สพท.ในพื้นที่บริการได้ตั้งแต่วันที่ 5-10 เม.ย.2560 เพื่อให้ สพท.จัดสรรที่เรียนให้กับนักเรียนทุกคนได้มีที่เรียนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการสอบแข่งขันระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงนั้น จะจัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 2 เม.ย. จากนั้นโรงเรียนทั่วไป จึงจัดสอบพร้อมกันในวันที่ 8 เม.ย.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน