เมื่อวันที่ 14 เม.ย. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้องค์กรภาคเอกชน มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยวันนี้มีผู้ร่วมเป็นเจ้าภาพจำนวน 44 คณะ แบ่งเป็น 4 รอบ ได้แก่ เวลา 10.00 น., 14.30 น., 17.00 น. และ 19.00 น.

สำนักพระราชวังสรุปยอดรวมประชาชนที่เดินทางมากราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 13 เม.ย. มีจำนวนทั้งสิ้น 32,303 คน รวม 162 วัน มี 6,101,859 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันที่ 163 ที่มีพระราชทานพระราชานุญาตให้ประชาชนเข้ากราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยวันนี้เป็นวันหยุดช่วงสงกรานต์ ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศต่างหลั่งไหลเดินทางมากราบสักการะพระบรมศพอย่างไม่ขาดสาย

น.ส.ศุภัสษร สมภาค อายุ 38 ปี ชาวจ.บุรีรัมย์ ที่พาด.ช.นพมงคล สมภาค อายุ 7 ปี ลูกชาย มากราบสักการะพระบรมศพ กล่าวว่า ตนทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ มีโอกาสมากราบสักการะพระบรมศพ 4-5 ครั้งแล้ว รู้สึกตื้นตันและมีความสุขทุกครั้ง ส่วนลูกชายอยู่กับตาและยายที่ จ.บุรีรัมย์ ช่วงนี้เป็นวันหยุดจึงพาลูกชายมาด้วย ซึ่งลูกชายเพิ่งเคยมาเป็นครั้งแรก ตอนที่บอกจะพามา ลูกชายก็ดีใจ เพราะเขาอยากมาอยู่แล้ว แม้ลูกชายตนจะยังเด็ก แต่ทั้งตนและตากับยายก็จะสอนให้เขารู้จักในหลวง รัชกาลที่ 9 เขาก็ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก

น.ส.ศุภัสษร กล่าวต่อว่า ตนรักพระองค์มาก ประทับใจทุกสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อคนไทย ตนติดตามดูข่าวก็จะเห็นพระองค์ทรงงานอย่างเหน็ดเหนื่อย พวกเรายังทำงานเหนื่อยไม่เท่าเศษเสี้ยวของพระองค์ ดีใจมากที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยและอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ส่วนตัวน้อมนำเรื่องความพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต หากจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก็จะนึกถึงคำสอนของพระองค์เสมอ ซึ่งทำให้เรารู้จักประหยัดและอดออม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เต็นท์อาหารพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บริเวณหน้าประตูสรีสุนทร ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นประตูทางออกของพสกนิกรหลังกราบสักการะพระบรมศพ การนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ฯ นำอาหาร ขนม ของว่าง และน้ำดื่มพระราชทานมาแจกจ่ายให้ประชาชน

โดยแบ่งเป็นมื้อเช้าเวลา 07.00 น. ข้าวกระเพราหมู-ไก่ 1,500 กล่อง นมหนองโพ 2,000 กล่อง, มื้อกลางวันเวลา 11.00 น. พิซซ่า 2,500 กล่อง ขนมไทย 1,000 กล่อง, มื้อบ่ายเวลา 16.00 น. เฉาก๊วยชากังราว 1,000 ถุง น้ำสมุนไพร 700 ลิตร, มื้อเย็นเวลา 18.00 น. ไส้กรอกราดซอส 3,000 กล่อง และมีน้ำดื่มให้บริการตลอดทั้งวัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่สำนักพระราชวังแจ้งว่า ตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักราชเลขาธิการ และสำนักพระราชวัง ดำเนินการจัดทำของที่ระลึกงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถวายแก่พระสงฆ์บรรพชิตจีนนิกายและอนัมนิกาย รวมทั้งถวายตามพระอารามหลวง ในการบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ โดยของที่ระลึกและเครื่องสังเค็ดดังกล่าว จะต้องมีการออกแบบสร้างขึ้นโดยประณีต ลวดลาย สีสันที่ใช้และปักประดับต้องมีความหมายเกี่ยวพันใน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โดยทางสำนักพระราชวังมอบหมายให้กรมศิลปากร โดยช่างกลุ่มประณีตศิลป์ ช่างกลุ่มจิตรกรรม และช่างกลุ่มศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการออกแบบของที่ระลึกและเครื่องสังเค็ด ประกอบด้วย พัดรอง-ผ้ากราบ-ย่าม, ตู้สังเค็ด, หีบปาฏิโมกข์, ธรรมาสน์ปาฏิโมกข์ ซึ่งนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นำขึ้นกราบบังคับทูลฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรและทรงมีพระราชวินิจฉัยเลือกแบบโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังรับไปดำเนินการจัดสร้างแล้ว ดังนี้

1.พัดรองสำหรับพระสงฆ์ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลการออกพระเมรุมาศ ออกแบบโดยนายเจริญ ฮั่นเจริญ กลุ่มจิตรกรรม มีลักษณะเป็นพัดหน้านาง ปักลวดลายพระบรมโกศตั้งบนพระแท่น ประดับด้วยพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” และฉัตร 5 ชั้น 2 ข้าง พร้อมวันที่สวรรคต

2.พัดรองสำหรับพระจีนนิกายและอนัมนิกายในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลการออกพระเมรุมาศ ออกแบบโดยนายเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ กลุ่มงานจิตรกรรม มีลักษณะคล้ายพัดเหลี่ยมมุมมน ปักลวดลาย ตราพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ภายใต้อุณาโลมและพระมหาพิชัยมงกุฎ นมพัดทำเป็นรูปครุฑหล่อประดับ ปักปีพระสูติและปีสวรรคตซ้าย-ขวาของนมพัด

3.พัดรองสำหรับพระสงฆ์ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระบรมอัฐิ ออกแบบโดยนายอัครพล คล่องบัญชี กลุ่มศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา ลักษณะเป็นพัดหน้านาง ปักลวดลายพระบรมโกศตั้งบนพระแท่น ประดับด้วย ฉัตร 7 ชั้น 2 ข้าง นมพัดทำเป็นรูปพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ประกอบด้วย วงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็น “อุ” หรือ “เลข 9” รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตร 7 ชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ

4.ตู้สังเค็ด เป็นตู้กระจกสำหรับใส่หนังสือ มีขารองรับน้ำหนัก 4 ขา ขนาดสูง 170 เซนติเมตร กว้าง 86 เซนติเมตร และลึก 44 เซนติเมตร หลังคาตู้ประดับกระจังลวดลายตราพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ภายใต้อุณาโลมและพระมหาพิชัยมงกุฎ มีรูป “กระต่าย” และ “ลิง” สัตว์นักษัตรประจำปีประสูติและปีสวรรคตขนาบข้าง ส่วนช่องกระจกหน้าตู้ทั้ง 4 ช่อง แกะลายพ่นทรายเป็นรูปพระพุทธรูปประจำวันประสูติ, พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร, พระมหาชนก และนางมณีเมขลา ออกแบบโดยนายสุธี สกุลหนู กลุ่มงานช่างเขียนและลายรดน้ำ กลุ่มประณีตศิลป์

5.ตู้พระปาฏิโมกข์ ออกแบบโดยนายธีรยุทธ คงเพชร์ กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา ซึ่งมีลวดลายคล้ายกับตู้พระปาฏิโมกข์ของวัดบวรนิเวศวิหาร และ 6.ธรรมมาสน์ปาฏิโมกข์ ลายเหลี่ยมเพชร ออกแบบโดยนายอัครพล คล่องบัญชี กลุ่มศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา

ด้านนายสมควร อุ่มตระกูล ผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า สำหรับแบบของที่ระลึกและเครื่องสังเค็ด ประกอบด้วย พัดรอง-ผ้ากราบ-ย่าม, ตู้สังเค็ด, หีบปาฏิโมกข์, ธรรมาสน์ปาฏิโมกข์ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแบบร่วมกับสำนักพระราชวัง เพื่อนำไปผลิตจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน