วันที่ 18 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “กรมศิลปากร” โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีของหมุดคณะราษฎร โดยระบุว่า ข้อชี้แจงกรณี “หมุดคณะราษฎร” เป็นโบราณวัตถุ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 หรือไม่

กรมศิลปากรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ได้บัญญัติให้ “โบราณวัตถุ” หมายความถึง สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี

ซึ่งจากนิยามดังกล่าว กรมศิลปากรจึงเห็นว่า หมุดคณะราษฎร์ มิใช่โบราณวัตถุตามนัยของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากหมุดคณะราษฎร์ เป็นวัตถุที่พลเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร์ ได้นำมาติดตั้งไว้ในบริเวณลานพระราชวังดุสิตเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ ซึ่งเป็นเวลา ๔ ปี ภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้นหมุดคณะราษฎร์จึงมิใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน