“ดีเอสไอ” ยึดทรัพย์ 50 ล้าน คดีแชร์ลูกโซ่หมอตุ๋นหมอ ทั้งรถยนต์-บิ๊คไบค์ นับ 10 คัน ทำผู้เสียหายสูญกว่า 180 ล้านบาท เร่งสอบสวนดำเนินการขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสองราย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 พ.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีดีเอสไอ และพ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ร่วมกันแถลงผลยึดอายัดทรัพย์สิน จากขบวนการหลอกลงทุนธุรกิจจัดหาห้องพักให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการจับกุมบริษัท ไนซ์ เดย์ ทราเวล จำกัด ที่มีนายปริญญา บุรัสการ และน.ส.จิรฐา ทองเหลือ เป็นกรรมการ ซึ่งมีลักษณะอ้างว่าการร่วมลงทุนในธุรกิจจัดหาห้องพักให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยแบบกรุ๊ปทัวร์ และจะได้รับผลตอบแทนในอัตราสูง ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินในประเทศ แต่เมื่อลงทุนแล้วกลับไม่ได้ค่าตอบแทนตามสัญญา เบื้องต้นมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ 142 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 180 ล้านบาท

อธิบดีดีเอสไอ กล่าวต่อว่า อยากเตือนประชาชนว่าการร่วมลงทุนกับผู้ที่มีชื่อเสียงหรือคนรู้จัก และให้ผลตอบแทนสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และในการลงทุนนั้นไม่มีสินค้าและการบริการจริง ซึ่งอาจเป็นการตั้งสินค้าหรืออะไรมาสักอย่าง และก็บอกว่าเป็นการลงทุนในผลิตภัณฑ์สินค้านั้นๆ อีกเรื่องคือการลงทุนมีการให้หาสมาชิกเพิ่มเติม ซึ่งแสดงว่าขบวนการแชร์ลูกโซ่ได้เกิดขึ้นแล้ว จึงอยากฝากเตือนประชาชนให้มีความรอบคอบในการร่วมลงทุน ทั้งนี้ ดีเอสไอได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะดำเนินการเชิงรุก เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน และจะเป็นช่องทางในการรับแจ้งเหตุจากประชาชนด้วย

ด้าน พ.ต.ท.พเยาว์ กล่าวว่า สำหรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษที่ 38/2560 ซึ่งเรามอบหมายให้ดำเนินการสอบสวนในกรณีที่นายปริญญา และน.ส.จิรฐา ใช้กรณีธุรกิจจองที่พักโรงแรมให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นตัวขโฆษณาชักชวนให้ผู้เสียหายมาร่วมลงทุน โดยทั้งสองคนใช้แอพพลิเคชั่นไลน์และเฟซบุ๊กในการโฆษณา พร้อมทั้งชักชวนเพื่อนที่เรียนสมัยมัธยม และที่เป็นเพื่อนร่วมอาชีพในวงการแพทย์มาร่วมลงทุน โดยใช้บ้านที่พักอาศัย บ้านเลขที่ 579/216 หมู่บ้านเดอะคอนเนค ซอย 8 ถ.สุขสวัสดิ์ 26 เขตจอมทอง กรุงเทพฯ และจากการที่ดีเอสไอสอบสวนยังพบว่ามีการหลอกผู้เสียหายให้มาร่วมลงทุนธุรกิจน้ำดื่มอีกด้วย

ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังทราบว่าในส่วนที่มีนายอภิวัฒน์ อัครเดชช์ หรือโจ้ สามีของน.ต.หญิง พญ.พรรณรัตน์ จันทร์มณี แพทย์โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกง ซึ่งมีผู้เสียหายไปแจ้งความเอาผิดที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) หลังถูกหลอกให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งปอศ.อยู่ระหว่างสอบสวนดำเนินคดีและแจ้งข้อหากับนายปริญญา ซึ่งเป็นผู้ต้องหาของดีเอสไอ จึงได้ประสานกับทางปอศ.และเห็นว่าดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว ก็จะโอนสำนวนคดีมาให้กับดีเอสไอดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ เราสามารถตรวจยึดอายัดบ้านพักอาศัย ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งบริษัท ไนซ์ เดย์ฯ 1 หลัง โดยปรากฏชื่อน.ส.จิรฐา เป็นเจ้าของและภรรยาของกรรมการบริษัทฯ และบ้านเลขที่ 117/7 ถ.พระราม 2 เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ซึ่งนายปริญญา ได้ซื้อไว้เป็นสินทรัพย์ มูลค่า 30 ล้านบาท

“นอกจากนี้ เรายังสามารถยึดอายัดรถยนต์ราคาสูง 3 คัน มูลค่ารวมประมาณ 7 ล้านบาท จักรยานยนต์บิ๊กไบค์ เช่น ยี่ห้อ ฮอนด้า, ดูคาติ, ฮาเล่ย์เดวิดสัน และคาวาซากิ 7 คัน มูลค่ารวมประมาณ 3 ล้านบาท รวมทั้งอายัดเงินสด 6 ล้านบาท ที่นายปริญญานำไปวางมัดจำเพื่อซื้อรถยนต์หรู ลัมโบกีนี่ ซึ่งนายปริญญายังไม่ได้รถยนต์ลัมโบกีนี่คันดังกล่าว รวมมูลค่าการยึดอายัดทั้งสิ้นประมาณ 50 ล้านบาท ทั้งนี้ เรากำลังให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินการขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสองรายดังกล่าว” พ.ต.ท.พเยาว์ กล่าว

ขณะที่ พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวว่า สำหรับมาตรการป้องกันคดีแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเราได้คำนึงถึงความเสียหายของประชาชน โดยปัจจุบันรูปแบบการหลอกลวงแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นมาก อยู่ที่ว่าจะเลือกเรื่องอะไรทั้งบริการและสินค้า ดีเอสไอกำลังคิดเครื่องมือในการตรวจสอบคือแอพพลิเคชั่น ซึ่งเราจะพัฒนามาเป็นการป้องกันอาชญากรรมทุกประเภทได้ รวมถึงแชร์ลูกโซ่ โดยหลักการเราจะถอดบทเรียนการกระทำผิดเกี่ยวแชร์ลูกโซ่ในลักษณะต่างๆ และทำเป็นไอค่อนไว้ให้ประชาชนได้ทำการเลือกว่าลักษณะที่ถูกหลอกเป็นอย่าง จากนั้นระบบก็จะทำการประมวลผลว่าเป็นเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ หากผลเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ก็จะให้คนที่เขารับข้อมูลทำการบันทึกข้อมูล จะมีการถ่ายภาพหรือคลิปวีดีโอ กรณีที่มีการมาชี้แจงหรือหลอกลวง และก็ส่งเรื่องร้องเรียน

พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวต่อว่า การส่งร้องเรียนนั้น ตนกำลังหารือกับอธิบดีดีเอสไอว่าถ้าเป็นที่จังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพนักงานตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 อยู่แล้ว ก็น่าจะมีประสิทธิภาร ซึ่งก็คงจะต้องมีการหารือกับกระทรวงหมาดไทย (มท.) เพื่อใช้เครือข่ายทางจังหวัด และให้โหลดแอพพลิเคชั่นตัวนี้ไว้ มื่อมีการร้องเรียนก็จะส่งข้อมูลมาได้ ซึ่งในแอพฯนี้จะปรากฎตำแหน่งที่ตั้งที่เกิดเหตุด้วย เพื่อจะได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบได้ทันที เพื่อเป็นการยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างที่ดีเอสไอกำลังศึกษาข้อมูลทั้งหมดให้รอบคอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน