เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 6 ต.ค. ที่ศาลปกครองสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายอภิสิทธิ์ (จอรี) เจริญสุข น.ส.สาริณี (นอกุละ) ตัวแทนชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พร้อมด้วย นายสมนึก ตุ้มสุภาพ น.ส.ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ ทนายความจากสภาทนายความ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ผู้ฟ้องคดี เข้ายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 ระหว่าง นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ผู้ฟ้องคดี กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อวันที่ 7 ก.ย.59 จากกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเผาบ้านเรือน และรื้อทำลายทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 นั้น ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกแต่ละคนเป็นเงินคนละจำนวน 10,000 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

201610061602361-20111122153007

นายสมนึก กล่าวว่า ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางยังมีความบกพร่องคลาดเคลื่อน และยังวินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญต่อการวินิจฉัยในประเด็นคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้อยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยโต้แย้งในประเด็นหลักๆ ดังต่อไปนี้ 1.ความมีอยู่จริงของการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมของผู้ฟ้องคดีทั้งหก และชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทในคดีนี้ 2.วิถีวัฒนธรรมการผลิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแบบไร่หมุนเวียน มีงานวิชาการรองรับว่าเป็นการทำเกษตรที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยรักษาป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 ได้ยอมรับวิถีวัฒนธรรม ตลอดจนความมีตัวตนและถิ่นฐานดั้งเดิมในพื้นที่ต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

14738466091473846624l

นายสมนึก กล่าวต่อว่า 3.การจัดการทรัพยากรภายใต้วิถีวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิมและสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550ที่บังคับใช้ในขณะเกิดเหตุกรณีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง “สิทธิของบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน” ของ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4.กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินการตามมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการทำลายทรัพย์สิน โดยการเผาทำลายหรือรื้อถอน แต่ให้เป็นดุลยพินิจว่าเป็นการป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายแก่อุทยานหรือไม่ โดยการใช้ดุลยพินิจสั่งการหรือไม่สั่งการนั้น ให้เหมาะสมแก่ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในแต่ละกรณี ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เป็นการให้อำนาจแก่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะเลือกสั่งการอย่างใดก็ได้ตามอำเภอใจ

1473846518_napol-phatham

“5.การปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักแห่งความเหมาะสม และเป็นปฏิบัติการทางปกครองที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ทั้งยังเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนของการกระทำ (Principle of Proportionality) ตามหลักกฎหมายมหาชน 6.หลักการรับฟังคู่กรณี ตามมาตรา 30 แห่งวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งต้องตีความด้วยเจตนาของการออกคำสั่งที่ให้คู่กรณีทราบถึงข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และโอกาสในการโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีมีการรับทราบถึงการแจ้งคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนปฏิบัติการเผาบ้านเรือนและรื้อทำลายทรัพย์สิน และ 7.ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ ที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่าไม่มีผลบังคับโดยตรง หากแต่รัฐต้องออกกฎหมายภายในเพื่อการอนุวัติ จึงจะใช้กฎหมายภายในบังคับเจ้าหน้าที่ได้นั้น ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าสามารถเทียบเคียงได้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550มาตรา 30“…การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ…จะกระทำมิได้…” ซึ่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รับรู้อย่างชัดแจ้งว่า พื้นที่ในแผนปฏิบัติภารกิจครั้งนั้น เป็นกลุ่มเฉพาะของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ที่ดำรงวิถีอัตลักษณ์ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน แต่กลับใช้ปฏิบัติการที่เป็นการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน” นายสมนึก กล่าว

1473846565_%e0%b8%99%e0%b8%b0-%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%98%e0%b8%99%e0%b8%b0

ด้าน นายชวิน ถวัลย์ภิยโย ช่างภาพอิสระ จากจ.พัทลุง อาสาสมัครผู้ดูแล (admin) กลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “ห้องภาพใจแผ่นดิน แผ่นดินใจ) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีกิจกรรมแสดงผลงานศิลปะภาพวาดเกี่ยวกับปู่คออี้ ว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดเพจห้องภาพใจแผ่นดิน แผ่นดินใจมา ตั้งแต่ช่วงเดือนก.ย.ถึงขณะนี้ มีผู้ส่งผลงานศิลปะเข้ามาในกลุ่มทั้งหมด 250 คน ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ (ไม่รวมผลงานด้านกวีและศิลปะแขนงอื่น) ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งศิลปินระดับชาติและศิลปินสมัครเล่น รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก

นอกจากนี้ ภายในกลุ่มยังมีผู้สนใจส่งบทกวีเข้ามาเป็นระยะๆ ซึ่งถือว่าผลตอบรับดีมาก อย่างไรก็ตาม ผลงานบางส่วนที่ส่งมา หากเจ้าของผลงานสามารถถือไปร่วมจัดนิทรรศการได้ก็ส่งผลงานได้ที่หอศิลปวัฒนธรรมในวันที่ 7 ต.ค. สำหรับผู้ที่ส่งผลงานเข้ามาในกลุ่มห้องภาพทางเฟซบุ๊ก ทีมงานจะแบ่งภาพบางส่วนจัดทำโปสการ์ดและของที่ระลึกประเภทอื่นเพื่อจำหน่าย ระดมทุนช่วยเหลือกะเหรี่ยงบางกลอยต่อไป

ทั้งนี้ ในวันที่ 7 ต.ค. ตั้งแต่เวลา 13.00 น. กลุ่มศิลปินอิสระได้ร่วมกันจัดงานแสดงภาพปู่คออี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ เวทีเสวนาบอกเล่าวิถีชีวิตของชาวบ้านบางกลอยบน ดนตรีและการแสดงสด การอ่านบทกวี เป็นต้น

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน