สธ.แจงดรามาตัดงบ “บัตรทอง” ไม่ได้ใช้เยียวยาโควิด-19 แต่เอาไปจ่ายเงินเดือนข้าราชการที่บรรจุใหม่ 4.5 หมื่นตำแหน่งระหว่างปี ชี้เป็นการทำตาม กม. หาก สปสช.ไม่สบายใจ ปีหน้าเสนอแยกเงินเดือนบุคลากรได้ ยันไม่กระทบดูแลรักษา ปชช. มีงบกลางอัดให้ทุกปี

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวถึงกรณีการตัดงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) จำนวน 2,400 ล้านบาท และงบสาธารณสุข 900 กว่าล้านบาท นำไปตั้งเป็นงบสำรองฉุกเฉิน แก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า จากภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ต้องการแพทย์ พยาบาล บุคลากรต่างๆ มากขึ้น จึงมีการบรรจุข้าราชการ สธ.เพิ่มขึ้น 45,684 ตำแหน่ง ซึ่งเงินเดือนที่ต้องจ่ายนั้นไปรวมอยู่ในงบบัตรทอง ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 46 (2) ดังนั้น ช่วงระหว่างปีที่มีการบรรจุข้าราชการมากขึ้น สปสช.ก็ต้องนำงบบัตรทอง 2,400 ล้านบาท ส่งคืนให้สำนักงบประมาณ เพื่อนำไปจ่ายเงินเดือน ซึ่งเป็นการดำเนินการกฎหมายที่กำหนดไว้

“สปสช.อาจมองเห็นว่า ไปเอาเงินของเขามา แต่จริงๆ เป็นเงินที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย เพราะกฎหมายบังคับจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ก็ต้องเอามาจ่าย แต่เรามีการหารือกับทางรองเลขาธิการ สปสช.แล้วว่า ถ้าที่ต้องจ่ายเงินเดือนไม่พอ หรือเงินที่ต้องใช้ดูแลประชาชนไม่พอ ก็สามารถของบกลางได้ ซึ่ง สปสช.ก็ขอทุกปี ไม่ใช่ไม่เคยขอ อย่างปี 2561 ขอเพิ่ม 5,186 ล้านบาท ปี 2562 ขอเพิ่ม 5 พันล้านบาท

ส่วนปี 2563 นายกฯ ก็นำงบ 5 พันล้านบาทมาใส่ในงบปกติเพิ่มให้แล้ว และในช่วงโรคโควิด-19 รัฐบาลยังให้งบสนับสนุน สธ.และสปสช.อีก โดยรอบแรกให้ 1,233 ล้านบาท ใช้ในการดำเนินการหาผู้ป่วย ตรวจแล็บ จ่ายค่าเบี้ยเสี่ยงภัยบุคลากร การทำที่กักกันผู้ป่วย รอบที่ 2 ให้ 5,488 ล้านบาท ในจำนวนนี้ สปสช.ได้ไป 3,260 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบแล้ว สปสช.ก็ยังได้งบเพิ่มขึ้นอยู่” นพ.สุขุม กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวว่า ในเรื่องของการการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับผลกระทบ ยังได้รับการดูแลเหมือนเดิม ส่วนหาก สปสช.งบไม่พอก็สมารถของงบกลางเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งรัฐบาลยังเตรียมงบประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทสำหรับการดูแลผู้ป่วยช่วงโควิด-19 นี้ อย่างไรก็ตาม การบรรจุลูกจ้าง พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ที่ใช้เงินบำรุง รพ.ในการจ่ายค่าจ้างและเงินเดือน เมื่อบรรจุเป็นข้าราชการ ก็ทำให้ประหยัดเงินบำรุงส่วนนี้ไปได้ รพ.มีเงินบำรุงเหลือ เอามาดูแลประชาชนได้มากกว่าเดิม

นพ.สุขุม กล่าวว่า ยอมรับว่าเงินเดือนบุคลากรที่ไปรวมอยู่ในงบบัตรทอง อาจทำให้เกิดความสับสน ว่าอะไรเป็นงบเงินเดือนหรืองบบริการ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีการเรียกร้องให้มีการแยกเงินเดือนออกมากลับมาอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขเหมือนเดิม ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้มองดูแล้วไม่สบายใจ สปสช.ก็สามารถเสนอให้แยกเงินเดือนข้าราชการออกมาเหมือนกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ หากจะมีการแยกเงินเดือนกลับมา สธ. ก็จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินเดือนนี้ แต่อยู่ที่ผู้ใหญ่พิจารณา

นพ.สุขุม กล่าวว่า สำหรับงบของ สธ.ที่ส่งคืนให้รัฐบาล เป็นงบลงทุน เช่น ใช้ก่อสร้าง หรือจัดซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ ที่ปีนี้ใช้ไม่ทัน ไม่ได้ก่อสร้าง หรือจัดซื้อไม่ทัน มีความล่าช้าจากสถานการณ์โควิด-19 ก็จะต้อส่งคืนไปตามมติ ครม. แต่งบที่ใช้ไม่ทันเหล่านี้จะเป็นในส่วนของที่ยังไม่มีการประกาศ หรือประกาศไม่ทัน ยังไม่ได้จัดซื้อจัดจ้าง หรือยังไม่มีใครมายื่นขาย คือเป็นส่วนที่ชะลอได้ ซึ่งในช่วงปลายเดือนจะมีการพิจารณาอีกรอบว่า หากยังมีส่วนไหนที่ยังไม่สามารถใช้จ่ายได้ก็จะนำส่งคืนเพิ่มอีก แต่จะไม่นำส่งคืนงบที่มีสัญญาแล้ว หรือที่เป็นงบผูกพัน ก็ให้ดำเนินการต่อ เรียกว่าเป็นงบเหลือจ่าย ไม่มีผลกระทบกับปกติ ขอให้สบายใจได้

นพ.สุขุม กล่าวว่า ส่วนการบรรจุข้าราชการใหม่นั้นจะทยอยบรรจุ ซึ่งกลุ่มไหนที่บรรจุได้เลยก็ดำเนินการ แต่บางตำแหน่งตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ต้องสอบก็ต้องสอบ แต่ สธ.ได้ต่อรองกับ ก.พ.ว่า เมื่อมีตำแหน่งมาขอให้คนที่บรรจุเจาะจงว่าเป็นคนนี้ และขอใช้มาตรา 55 ของกฎ ก.พ. คือ ปลัดจะกำหนดวิธีสอบ ก็จะดูการสอบที่ได้ประโยชน์กับบุคลากรของเรา คือ ไม่สอบแบบปกติ ให้มั่นใจว่าเมื่อมีตำแหน่งมาที่ รพ.เป็นของท่านแน่นอน ให้คนอื่นไม่ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน