ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 21 มิ.ย. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้จัดให้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาอุบัติเหตุจากการก่อสร้างเกิดขึ้นบ่อยและต่อเนื่อง เนื่องจากขณะนี้ รฟม. มีโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ 2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และ 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี

 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. กล่าวว่า ภายใน 1 สัปดาห์จากนี้ รฟม.ได้ทำการจัดตั้งคณะกรรมการ(บอร์ด) ด้านความปลอดภัยหรือ เซฟตี้บอร์ดขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลความปลอดภัยในโครงการก่อสร้างของรฟม. โดยมีตนนั่งเป็นประธานบอร์ด ส่วนกรรมการที่เหลือจะคัดเลือกมาจากตัวแทนบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างและพนักงานของ รฟม.รวมทั้งสิ้น 15 คน เบื้องต้นบอร์ดได้ประกาศนโยบายว่าที่จะทำให้การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามีความปลอดภัย 100% และอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างน้อยที่สุด

 

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดบทลงโทษเพิ่มเติมผู้รับเหมาเอกชนที่กระทำผิดสัญญาการก่อสร้างหรือปล่อยปละละเลยให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างก่อสร้าง โดย เซฟตี้บอร์ดจะเร่งหารือเพื่อกำหนดรายละเอียดบทลงโทษต่อไปคาดว่าภายใน 1 เดือนจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จากนั้นจะจัดทำเป็นเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ผู้รับเหมาก่อสร้างแตะละบริษัทร่วมลงนามรับรองเงื่อนไขเกี่ยวกับบทลงโทษดังกล่าว เบื้องต้นจะมีการกำหนดเงื่อนไขให้ รฟม. มีสิทธิ์ที่จะบอกเลิกสัญญาได้ หากพบว่าผู้รับเหมาปล่อยปะละเลยจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือจงใจไม่รับผิดชอบ อาทิ ไม่ดูแลผู้เสียหายหรือไม่ปรับปรุงความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น

 

นายภคพงศ์ กล่าวถึงการกำหนดเกณฑ์ความปลอดภัยหรือสถิติการเกิดอุบัติเหตุไว้ในเงื่อนไขการประมูลงานโครงการของรฟม.ในอนาคตว่า เซฟตี้บอร์ดจะทำหน้าที่ผู้กำหนดเกณฑ์ดังกล่าวไว้ในประกาศประกวดราคา โดยหากพบว่าผู้รับเหมารายใดทำผิดซ้ำซากอาจจะขึ้นบัญชีดำหรือ แบล็คลิสต์ ไม่ให้มีการประมูลในโครงการของรฟม . ส่วนเกณฑ์การตัดคะแนนในการเข้าแข่งขันการประมูลในโครงการของ รฟม .นั้น เบื้องต้น จะมีการตัดคะแนนผู้รับเหมาที่ละเลยจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเแยกพิจารณาออกเป็น 2 ประเด็นคือ 1.หากเป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับสาธารณะและประชาชน จะถูกตัดคะแนนมากที่สุดและ2.หากเป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับพนักงานก่อสร้าง จะหักคะแนนรองลงมา

 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้ามากว่า10ครั้งหรือเฉลี่ยประมาณ เดือนละ 2 ครั้ง ประกอบกับในอนาคต รฟม. จะต้องมีการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกหลายโครงการ ทำให้รฟม.ต้องเร่งยกระดับมาตรการความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและผู้สัญจรตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้เข้มงวดด้านความปลอดภัยมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน