นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนักศึกษาสัตวแพทย์และพนักงานบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ตกบ่อบำบัดน้ำเสียภายในโรงงานประกอบกิจการฆ่าและชำแหละสัตว์ปีกเสียชีวิต 5 ราย ว่าในส่วนของ กรอ. เบื้องต้น ได้รับทราบรายงานแล้วว่าทางโรงงานได้หยุดดำเนินงานในส่วนของบ่อบำบัดน้ำเสียแล้วหลังจาก กรอ. ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงาน พ.ศ.2535 ตามมาตรา 39 สั่งปิดการดำเนินงานในส่วนของบ่อบำบัดน้ำเสียโรงงานเป็นเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.2560 ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ หรือจนกว่าโรงงานจะแก้ไขปรับปรุงระบบที่มีเป็นปัญหาให้เรียบร้อย ก่อนแจ้งกลับมายัง กรอ. เพื่อเข้าไปตรวจสอบ หากพบว่าโรงงานดำเนินการตามขั้นตอนกำหนดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและความปลอดภัยแล้ว ก็สามารถอนุญาตให้โรงงานเปิดระบบบ่อบำบัดน้ำเสียดำเนินการได้ตามปกติ

 

“ปกติกระบวนการผลิตของโรงงานจะเกิดของเสียและต้องส่งข้อเสียนั้นเข้ามายังระบบบำบัดดังกล่าว จึงทำให้เชื่อว่าขณะนี้ในส่วนของการผลิตน่าจะหยุดดำเนินการไปด้วยโดยปริยาย ยกเว้นว่าโรงงานจะมีระบบบำบัดอื่นสำรองไว้ หากระหว่างนี้โรงงานมีการผลิตทำให้เกิดของเสีย ทางโรงงานอาจใช้ระบบขนย้ายของเสียไปกำจัดอย่างถูกต้องด้วยวิธีอื่นแทน ซึ่งประเด็นนี้ทาง กรอ. ไม่ทราบแน่ชัด ต้องสอบถามรายละเอียดไปยังโรงงานต่อไป”นายมงคล กล่าว

 

นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น เจ้าหน้าที่พบว่าระหว่างเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนั้น ฝาท่อบำบัดน้ำเสียได้ถูกเปิดออก จากปกติควรปิดและด้วยน้ำหนักของฝาต้องใช้แรงถึง 2 คนในการเปิด จึงไม่ทราบว่าฝาท่อถูกเปิดก่อนหรือหลังที่นักศึกษาเข้าไปดูงาน และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เปิด

 








Advertisement

“จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ กรอ. ทันทีในวันที่ 23 มิ.ย.ที่เกิดเหตุในช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. ได้รับการรายงานว่าเมื่อเวลา 08.00 น. โรงงานได้มีการตรวจสอบฝาท่อยังปิดอยู่ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้สอบสวนจนกว่าจะมีข้อสรุปออกมาชัดเจนก่อน จึงจะพูดได้ชัดว่าใครผิด”

 

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นความผิดของโรงงานหรือบุคคลและคดีสิ้นสุดในชั้นศาล ตามพ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่ที่เตรียมเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ กำหนดโทษสูงสุดกรณีดังกล่าวรุนแรงกว่าพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันกำหนดโทษสูงสุดจำคุกผู้กระทำผิดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท

 

“กรณีโรงงานนี้ ผู้รับผิดชอบความผิดคือ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่จากการสอบถามโดยตรงกับผู้บริหารโรงงานพบว่าขั้นตอนการดูงานของนักศึกษาฝึกงานเป็นขั้นตอนระดับปฏิบัติการที่ผู้บริหารไม่อาจทราบได้ และที่ผ่านมาโรงงานซีพีเอฟก็ไม่เคยมีสถิติการตรวจสอบที่เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด”

 

นายมงคล กล่าวอีกว่า เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก กรอ.เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศเข้าตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงในขั้นตอนของการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 21,000 โรงงานทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมายตรวจสอบทั้งหมดแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

 

ด้านนายประเสริฐ ตปนียางกูร นายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย(สวสท.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลโดยภาพในที่เกิดเหตุ ไม่ได้เข้าไปดูสถานที่เกิดเหตุจริง สันนิษฐานว่าโรงงานอาจมีปัญหาเรื่องระบบสื่อสารการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพราะตามขั้นตอนบุคคลที่ทำงานในระบบบ่อบำบัดน้ำเสียต้องมีอุปกรณ์สื่อสารกับบุคคลภายนอกได้ตลอดเวลา ต้องมีบุคคลที่อยู่ใกล้เคียงสามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที ต้องรู้ว่ามีอันตรายจุดใด ต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิต อาทิ เชือก รอกยก เป็นต้น

 

“ที่สำคัญคือ ห้ามเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยขาดความรู้ การฝึกจริง และขาดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลเป็นอันขาด ดังนั้นเหตุการณ์นี้ต้องให้ตำรวจเป็นผู้สอบสวนและสรุปหาสาเหตุที่แท้จริง”นายประเสริฐ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน