เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 24 ก.ค. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขตพื้นที่ 6 จ.พิษณุโลก นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พร้อมด้วย พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ท. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม กำกับ และติดตาม การดำเนินคดีทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้า ของคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ของ ป.ป.ท. เขตพื้นที่ 6 โดยมีพ.ต.อ.กษิดิศ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการ ป.ป.ท. เขตพื้นที่ 6 เป็นผู้ให้การต้อนรับและกล่าวบรรยายสรุปการดำเนินคดีทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้า ป.ป.ท. เขตพื้นที่ 6

 

นายประยงค์ กล่าวว่า สำหรับคดีทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้ามีทั่วประเทศ 990 คดี แต่อยู่ในพื้นที่เขต 6 รวม 8 จังหวัด 506 คดี ซึ่งมีปริมาณเยอะมาก มีมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 90,000 กว่าล้านบาท จากจำนวน 100,000 กว่าล้านบาท โดยพบทุจริตมากสุด คือ จ.นครสวรรค์ จ.สุโขทัยและ จ.กำแพงเพชร ซึ่งพฤติการณ์น่าเป็นห่วงและมีปัญหาเชิงระบบ หากเกิดปล่อยไว้จะเกิดความเสียหายในอนาคต จึงควรมาต้องทำการศึกษาอย่างถ่องแท้เพราะว่าถ้าปล่อยไว้มันเป็นปัญหาในระยะยาว ดังนั้น จึงต้องมาศึกษาเพื่อจะนำไปแก้ปัญหาและศึกษาพฤติกรรม รูปแบบพฤติกรรมเพื่อจะนำไปป้องกันการทุจริตในระยะยาว เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและยังไร้ที่ทำกิน ถ้ามีโครงการใหม่ในลักษณะนี้มาอีกมันก็จะเกิดการทุจริตอีก

 

นายประยงค์ กล่าวต่อว่า การดำเนินการของ ป.ป.ท. ที่ปรากฎเป็นข่าวเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวปี 2554-2557 และมีการระบุว่ามีคดีมากกว่าเป็นความจริงนั้น ข้อเท็จจริงคือ ป.ป.ท. เริ่มดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2551 ดังนั้น จำนวนคดีจึงมีจำนวนมาก เพราะเป็นโครงการเก็บรักษาข้าว และในส่วนของจำนวนข้าวเราได้ไปตรวจสอบ ซึ่งเราก็กังวลเพราะสื่อเห็นว่ามีจำนวนมากเกินไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ยืนยันว่าในแต่ละคดีตัวเลขไม่ผิด อาจจะเป็นตัวเลขรวมที่อาจจะนำมาใช้ในเชิงของการบริหารติดตามคดี ชึ่งแต่ละคดีจะเป็นข้อมูลที่ได้จากเจ้าหน้าที่ที่ลงไปตรวจสอบ ซึ่งถ้าข้อมูลจะคลาดเคลื่อนบ้างก็เป็นส่วนของตัวเลขรวมที่จะเอามาใช้ในเชิงบริหารการติดตามคดี เพราะในส่วนแต่ละคดีเป็นข้อมูลที่ได้จากทางคลังสินค้าและองค์การตลาดกล่าวโทษร้องทุกข์

เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีคลังสินค้าที่ประมูลข้าวบางส่วนมีข้อมูลขัดแย้งกันนั้น ในส่วนการระบายข้าวเป็นเรื่องของกระทรวงพานิชย์ที่จะดำเนินการและส่วนค่าเสียหายก็เป็นเรื่องของผู้เสียหายและเป็นหน้าที่ของกระทรวงพานิชย์ที่จะไปดำเนินการ สำหรับผู้ที่ถูกกล่าวหาจะต้องดูพฤติการณ์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการทำให้เกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง แล้วบุคคลนั้นก็ต้องรับผิดชอบซึ่งอันนี้คือหลักการ ทั้งนี้ เบื้องต้นในส่วนของคณะอนุกรรมการต้องรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานจากทุกฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อเท็จริงและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาและเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนด้วย เพราะตอนนี้จริง ๆ แล้วแม้จะเป็นรายคดีก็จริง แต่ในภาพรวมของประเทศมันมีเยอะ

 

ด้าน พ.ต.อ.กษิดิศ กล่าวว่า ป.ป.ท. เขตพื้นที่ 6 ได้รับสำนวนการสอบสวนในคดีทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้าตั้งแต่ปี 2551-2557 โดยคดีดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง รวม 990 คดี และมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยแบ่งตามพื้นที่เกิดเหตุ และเป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย ป.ป.ท. เขตพื้นที่ 6 ได้รับสำนวนคดีมาทำการตรวจสอบทั้งหมด 506 คดี แบ่งเป็น จ.กำแพงเพชร 102 คดี, จ.นครสวรรค์ 201 คดี, จ.พิจิตร 60 คดี, จ.พิษณุโลก 56 คดี, จ.เพชรบูรณ์ 46 คดี, จ.สุโขทัย 12 คดี, จ.อุตรดิตถ์ 2 คดี และจ.อุทัยธานี 27 คดี

 

พ.ต.อ.กษิดิศ กล่าวต่อว่า ส่วนการลงพื้นที่ตรวจสอบครั้งนี้ เป็นคลังชินธนทรัพย์ หลังที่ 1 อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ซึ่งเข้าร่วมโครงการฯ ปี 2555/56 กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เก็บข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ในคลังพบข้าวบางส่วนเป็นปี 2552 และปี 2553 ปรัง ปี 2555 ซึ่งมาจากจ.พิษณุโลก ซึ่งไม่ใช่ข้าวของจ.สุโขทัย โดยข้าวมีสภาพเก่าและเป็นปลายข้าว ไม่ใช่ข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ตามโครงการฯ ทั้งนี้ ข้าวที่ร่วมโครงการฯจะสามารถทราบได้ด้วยตาเปล่าทันทีว่าเป็นข้าวโครงการปีใด ข้าวชนิดใด และมาจากจังหวัดใด เพราะจะระบุไว้บนกระสอบทุกใบ และยังมีสีเชือกที่ระบุด้วยว่าโครงการฯใด ซึ่งมีสีแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่คาดว่า น่าจะเป็นกรณีเวียนเทียนข้าวเก่า ที่ได้มีการระบายในปีก่อนหน้าในราคาต่ำจากจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จ.สุโขทัย แล้วนำมาเข้าโครงการ 55/56 ในราคาข้าวใหม่ หรือนำข้าวเก่ามาสวม

 

ต่อมาเวลา 11.00 น. นายประยงค์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบคลังชินธนทรัพย์ หลังที่ 1 ตั้งอยู่ ม.10 ต.เกาะตาเลี้ยง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย โดยสภาพภายในคลังเก็บข้าวพบมีกระสอบข้าวจำนวนมากที่อยู่ในสภาพเก่าบางถุงมีร่อยฉีกขาด และมีข้าวหล่นกระจ่ายอยู่รอบบริเวณ

 

นายประยงค์ กล่าวภายหลังการตรวจสอบคลังดังกล่าว ว่า สำหรับคลังชินธนทรัพย์แห่งนี้ มีพฤติการณ์ที่จะทำให้เกิดความเสียหายในเชิงระบบในระยะยาว โดยโครงการนี้เป็นการเช่าโกดังเพื่อเก็บรักษาข้าวในปี 55/56 เป็นโครงการจำนำข้าวนาปี และเป็นข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ มีทั้งหมด 2.9 แสนกระสอบ ซึ่งตอนนี้มีการระบายออกไปเยอะแล้ว เหลือเพียง 4-5 หมื่นกระสอบ จากข้อเท็จริงของการไต่สวนและสังเกตการณ์ มันมีเหตุบ่งบอกหลายอย่างที่ไม่เป็นไปตามสัญญา คือ มีกระสอบข้าวที่พ่นสีไว้ข้างกระสอบว่าเป็นข้าวนาปรัง ปี 51/52 และมีปลายข้าวผสมอยู่ปี 51/52 และปี 53 ซึ่งลักษณะการกระทำอย่างนี้มันบ่งบอกว่าเจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่งไม่สามารถกระทำได้ เพราะมีทั้งคนส่ง คนรับ และคนเฝ้าคลัง ซึ่งการกระทำอย่างี้ถ้าไม่หาทางป้องกันต่อไปก็จะเกิดอีก จึงต้งอมาตรวจสอบในวันนี้

 

เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวต่อว่า พอมาเห็นสภาพแล้วก็น่าจะบ่งบอกได้ว่าเป็นการร่วมมือกันตั้งแต่ต้น ทุกฝ่าย มันมีการวางแผนการตั้งแต่ต้นหรือไม่ เพราะดูแล้วรัฐมีขั้นตอนการดำเนินการ คือ ตั้งแต่รับจำนำ แปรสภาพ ขนส่ง จำหน่าย ซึ่งลักษณะอย่างนี้ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ปกติไม่กล้าทำหรอก เพราะถ้าทำสักวันหนึ่งหากมีการจำหน่ายเรื่องก็จะถูกเปิดเผย แต่ปัญหาคือทำไมกล้าทำ ถ้าไม่มีการตรวจสอบพบเสียก่อน เมื่อมีการจ่ายข้าวออกไป ก็จะไม่มีร่องรอย ดังนั้น จึงได้มาดูข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดต่อไปในภายภาคหน้า

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการตรวจสอบเหมือนมีลักษณะการนำข้าวออกไปสลับกันเวียนเทียนขายหรือไม่ นายประยงค์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบมีข้าวเก่าปี 51/52 จึงตรวจสอบว่ามีการนำข้าวเก่ามาส่งหรือไม่ หรือเพียงแค่นำกระสอบมาใส่เพราะโครงการในลักษณะอย่างนี้จะต้องมีกระสอบเฉพาะ ทำตราสัญลักษณ์ชัดเจนว่าเป็นข้าวปีไหนอย่างไร ตอนนี้บางกระสอบก็พบระบุ บางกระสอบก็ไม่มี ซึ่งต้องตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

 

ถามต่อว่า มีการแจ้งข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องหรือยัง นายประยงค์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีบุคคลใดบ้างที่ต้องเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้รับผิดชอบคนเดิมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ อคส. ได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ซึ่งไม่มีผลในคดีอาญาที่เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการอยู่ หากมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนลักษณะนี้มีเกิดขึ้นที่อื่นอีกหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังพบในจ.สุโขทัย 12 คดี ส่วนที่อื่นที่เราเคยตรวจพบก็จะมีจำพวกการนำข้าวอื่นมาเก็บ มีการล้อมกองข้าวด้วยการนำเอานั่งร้างมาตั้งไว้ตรงกลางและใช้กระสอบข้าวล้อมไว้

 

รายงานข่าวแจ้งว่า ในพื้นที่จ.สุโขทัยมีคดีอยู่ระหว่างดำเนินคดีอยู่ 12 คดี เป็นเจ้าหน้าที่ อคส. เป็นผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 8 คดี เจ้าหน้าที่ อตก. เป็นผู้ถูกล่าวหา 4 คดี สำหรับกรณีของคลังชินธนทรัพย์ 1 ซึ่งมีห้างหุ้นส่วนจำกัดชินธนทรัพย์ เข้าทำสัญญาให้เช่าคลังสินค้าในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ในปีการผลิต 2555/2556 กับ อคส. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2556 โดยมีพื้นที่เก็บข้าวสารได้ประมาณ 7,500 ตารางเมตร หรือ 303,750 กระสอบ ทั้งนี้ คณะทำงาน พบว่า คลังสินค้าชินธนทรัพย์ หลังที่ 1 มีข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน และพบกระสอบข้าวที่แสดงรหัสหรือสีเชือกที่ไม่ตรงตามที่องค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้กำหนด โดยที่ถูกต้องจะต้องเป็นของปีการผลิต 2555/2556 แต่กลับพบของปีการผลิต 2551, นาปรัง 2552, นาปรัง 2555 และกระสอบไม่มีรหัสแสดงปีการผลิต ทั้งนี้ มีปริมาณข้าวประมาณ 300,000 กระสอบ มูลค่าความเสียหาย 800 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน