เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการ ปปง. แถลงผลงานยึดและอายัดทรัพย์สินในช่วง 1 ปี ว่า มีคดีสำคัญต่าง ๆ แยกเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับเอกชนกระทำความผิด เช่น 1.คดีคลองด่าน มูลค่าความเสียหาย 32,555 ล้านบาท ปปง.ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 6,352 ล้านบาท และกล่าวโทษความผิดอาญาฐานฟอกเงินต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้ถูกกล่าวหา 8 ราย คือ 1.บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด 2.บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด 3.บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด 4.บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด 5.บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด 6.บริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด 7.นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล และ 8.บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันอัยการสูงสุดมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 รายแล้ว

พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวต่อว่า 2.คดีจำนำข้าว มีคดีกว่า 100 คดี มูลค่าความเสียหาย 405,000 ล้านบาท ปปง.ยึดและอายัดทรัพย์สินได้ส่วนหนึ่งที่มาจาก 4 สัญญา ซึ่งเป็นสัญญาจีทูจี ซึ่งเป็นเพียงคดีเดียวใน 100 กว่าคดี มูลค่า 12,909 ล้านบาท และกล่าวโทษความผิดอาญาฐานฟอกเงินต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ถูกกล่าวหา 4 ราย คือ 1.นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง 2.นายสุธี เชื่อมไธสง 3.นายนิมล หรือณพชร รักดี และ 4.นายสมคิด เอื้อนสุภา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอ 3.คดีธนาคารกรุงไทย มูลค่าความเสียหาย 10,000 ล้านบาท ปปง.ยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 64 ล้านบาท และ 4.คดีทุจริตการจัดซื้อสารเคมีผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชกรณีภัยพิบัติฉุกเฉิน มูลค่าความเสียหาย 657 ล้านบาท ยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 461 ล้านบาท

เลขาธิการ ปปง. กล่าวอีกว่า สำหรับคดีที่เอกชนกระทำความผิดนั้น ปปง.ได้ยึดอายัดทรัพย์สิน 9 คดี ประกอบด้วย 1.คดีค้ามนุษย์ (สถานบริการนาตารี) ปปง.ยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 724 ล้านบาท 2.คดีบริษัทฝูอัน ทราเวล จำกัด และบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต หรือคดีทัวร์ศูนย์เหรียญ ยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 9,542 ล้านบาท และได้กล่าวโทษความผิดอาญาฐานฟอกเงินต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้ถูกกล่าวหา 13 ราย คือ 1.นายสมเกียรติ คงเจริญ 2.นางธวัล แจ่มโชคชัย 3.นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี 4.นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี 5.บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต 6.บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 7.บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด 8.บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ จำกัด 9.บริษัท รอยัล พาราไดซ์ จำกัด 10.นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี 11.บริษัท บ้านขนมทองทิพย์ จำกัด 12.น.ส.สายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี และ 13.นายวินิจ จันทรมณี ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา

พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวด้วยว่า 3.คดีธรรมกาย มูลค่าความเสียหาย 20,000 ล้านบาท ยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 2,344 ล้านบาท เช่นกรณีสั่งจ่ายเช็ค 27 ฉบับให้พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับ ในโครงการเวิลด์พีซ มูลค่า 1,585 ล้านบาท กรณีที่ดินน.ส.อลิสา อัศวโภคิน 8 แปลง มูลค่า 289 ล้านบาท กรณีการซื้อขายที่ดินระหว่างบริษัท เอ็ม–โฮม เอสพีวี 2 จำกัด กับนายอนันต์ อัศวโภคินและนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ มูลค่า 470 ล้านบาท เป็นต้น

4.คดีผู้ลำเลียงยาเสพติดไปยังภาคใต้โดยใช้รถไฟ ยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 196 ล้านบาท 5.คดีเครือข่ายไซซะนะ ปปง.ร่วมตรวจค้นกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), บช.ปส. และดีเอสไอ ยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 500 ล้านบาท 6.คดีนายเล่าต๋า แสนลี่ ยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 24 ล้านบาท 7.คดีพ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ มูลค่าความเสียหาย 263 ล้านบาท ยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 29 ล้านบาท 8.คดีการพนันออนไลน์ ยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 115 ล้านบาท 9.คดีระหว่างประเทศ เช่น คดีนายจาง ชิง ตวน ปปง.ประสานงานกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มูลค่าประมาณ 1,000 ล้าน ยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 346 ล้านบาท

พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวว่า ทั้งนี้รวมมูลค่าความเสียหายในคดีสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 469,034 ล้านบาท โดยทรัพย์สินที่ปปง. ยึดและอายัดทรัพย์และส่งสำนวนให้อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ในช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา รวมมูลค่าทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งยังมีคดีอีกจำนวนมากที่ปปง.จะต้องนำกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไปดำเนินการเพื่อนำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความความผิดกลับคืนสู่แผ่นดินต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน