29 จังหวัด กักตัว คนเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง แนะเช็กมาตรการจังหวัดปลายทางก่อน ย้ำรพ.เอกชนส่งต่อหากไม่มีเตียง ห้ามผู้ป่วยกลับไปกักตัวที่บ้าน

วันที่ 10 เม.ย.64 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงสงกรานต์ที่มีประชาชนการเดินทางกลับบ้าน ขอความร่วมมือตรวจสอบประวัติเสี่ยงของตัวเอง หากเป็นนักเที่ยวมีประวัติไปสถานบันเทิง หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ไปตรวจที่สถานพยาบาลรัฐใกล้บ้าน ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ส่วนโรงพยาบาลเอกชนถ้าอยู่ร่วมโครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ก็ตรวจฟรี รัฐบาลให้งบฯ สนับสนุนไป 3 พันล้านบาท ถือว่าเพียงพอ สำหรับการเดินทางไปพบผู้สูงอายุที่เสี่ยงติดเชื้ออาการรุนแรง ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ สิ่งที่ช่วยประเทศขณะนี้คือ การลดกิจกรรมเสี่ยงติดเชื้อ ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น ใส่หน้ากากอนามัยเวลาคุยกับคนอื่น อย่ากินอาหารร่วมกับคนหมู่มาก

หากจำเป็นต้องเดินทางข้ามจังหวัด ขอให้ตรวจสอบมาตรการจังหวัดปลายทาง เพราะแม้ ศบค.(ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19) จะไม่ห้ามการเดินทาง ไม่ต้องกักตัว แต่จังหวัดสามารถออกมาตรการเข้มกว่าได้ เพราะสถานการณ์แต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน มีจำนวนผู้ติดเชื้อและทรัพยากรดูแลการระบาดไม่เหมือนกัน

จากการตรวจสอบกับเว็บไซต์กระทรวงมหาดไทย หลายจังหวัดมีประกาศให้คนเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงกักตัว 29 จังหวัด ได้แก่

  • กำแพงเพชร
  • เชียงใหม่
  • ตาก
  • น่าน
  • พะเยา
  • เพชรบูรณ์
  • ลำพูน
  • อุทัยธานี
  • ชัยภูมิ
  • นครพนม
  • บึงกาฬ
  • บุรีรัมย์
  • อุดรธานี
  • มหาสารคาม
  • มุกดาหาร
  • ยโสธร
  • เลย
  • สกลนคร
  • หนองคาย
  • หนองบัวลำภู
  • อำนาจเจริญ
  • ชัยนาท
  • สระบุรี
  • ชุมพร
  • ตรัง
  • นราธิวาส
  • ปัตตานี
  • พังงา
  • สงขลา

ดังนั้น ก่อนเดินทางไปจังหวัดใด ให้ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดอีกครั้ง เพราะการออกคำสั่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ และย้ำว่าการเดินทางขอให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ชุมชน เน้นมาตรการเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และขอความร่วมมือช่วยกันลดการระบาดโรคในวงกว้าง โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์

“ตอนนี้ปิดผับบาร์ คาราโอเกะเยอะแล้ว ขอให้หลีกเลี่ยงจุดเสี่ยง สถานที่แออัด ระบบระบายอากาศไม่ดี คนยัดเยียดข้างใน ไม่มีการใส่หน้ากากอนามัย ดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าไม่จำเป็นอย่าไป จะปลอดภัยทั้งตัวเอง ครอบครัว ชุมชนและประเทศไทย” นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลเอกชน แล้วทางโรงพยาบาลแจ้งว่าเตียงเต็ม ให้ไปกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน นพ.โอภาสกล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายว่าผู้ติดเชื้อในไทยทุกคนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ไม่เอาอย่างต่างประเทศที่ติดเชื้อแล้วให้ไปกักตัวที่บ้าน

แต่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งตรวจเยอะ ผู้ติดเชื้อมาก โรงพยาบาลไม่ใหญ่ก็เจอปัญหาเตียงเต็ม จาการหารือวันที่ 9 เม.ย.64 ชัดเจนว่าจะมีระบบส่งต่อในโรงพยาบาลเอกชนด้วยกัน หากส่งต่อไม่ได้ ให้โทร.ไปยังศูนย์ส่งต่อกรมการแพทย์ 1668 เป็นจุดรับจัดการส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลกับโรงพยาบาล

“ผู้ป่วยส่วนใหญ่ระลอกนี้อาการน้อยจึงจะใช้ระบบเหมือนครั้งก่อน โดยปรับระบบโรงแรมเป็นกึ่ง โรงพยาบาล คือ Hospitel มีความสะดวกสบายระดับหนึ่ง มีระบบดูแลการแพทย์และสาธารณสุข หากอาการรุนแรงขึ้นมีการส่งต่อ

ตอนนี้มีหลายพันห้องรองรับได้ ถ้าผู้ป่วยมากจริงๆ ก็มีการจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามใน กทม.ขึ้น แต่ผู้ป่วยขณะนี้ยังรองรับได้ ถ้าจำเป็นจะจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม อย่างมหาชัยที่เคยตั้งโรงพยาบาลสนามก็ดูแลผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย้ำว่าผู้ติดเชื้อไม่มีนโยบายอยู่ที่บ้าน” นพ.โอภาสกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน