เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 24 พ.ย. ที่สำนักงานกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือถึงกสม. ผ่านนายโสพล จริงจิตร รองเลขาธิการกสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีของนายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิต ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การเสียชีวิตของนายภคพงศ์ เป็นที่น่าสงสัย หลายคนมีความคาใจ คือเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้อย่างไร เมื่อทางครอบครัวยืนยันว่านายภคพงศ์ แข็งแรงดี สอบวิชาพละได้คะแนนเกือบเต็ม ซึ่งขัดแย้งกับทางกองทัพไทย ที่ชี้แจงว่านายภคพงศ์อาจมีโรคประจำตัว ข้อสังเกตุดังกล่าวเป็นข้อพิรุธที่จะต้องมีการตรวจสอบให้สาธารณชนรับรู้ว่า ผอ.ทางกองแพทย์ และกองพยาบาล โรงเรียนเตรียมทหารมีพฤติการณ์ปิดบังข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ที่ต้องแจ้งให้กับญาติผู้เสียชีวิตทราบ อันเป็นการขัดหรือแย้งต่อจรรยาบรรณทางการแพทย์หรือไม่ การคัดกรองบุคคลเข้าศึกษาโรงเรียนดังกล่าวมีความผิดพลาด ล้มเหลวหรือไม่ รวมถึงวัฒนธรรมการซ่อม หรือ การธำรงค์วินัย ที่เป็นวัฒนธรรมของทหาร ที่สืบทอดกันมาหลายต่อหลายรุ่น จนเป็นเรื่องปกติ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ผู้บัญชาการปล่อยปะละเลย ให้นักเรียนรุ่นพี่ลงโทษรุ่นน้อง โดยไม่คำนึงถึงเหตุร้ายต่างๆที่จะตามมา ซึ่งช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีนักเรียนเตรียมทหารเสียชีวิตทุกปี ทั้งที่นักเรียนเหล่านั้นตั้งใจที่จะจบมาแล้วทำงานเพื่อรับใช้ประเทศชาติ และตอบแทนคุณแผ่นดินกลับกลายเป็นว่าเข้าไปเพื่อรับใช้ความบ้าคลั่งของรุ่นพี่บางคน

เป็นเพราะระบบงานในโรงเรียนเตรียมทหารล้มเหลว ผู้บังคับบัญชาขาดการเอาใจใส่ ปล่อยปะละเลยนักเรียนรุ่นพี่ให้ปกครองรุ่นน้อง ซึ่งมีวุฒิภาวะ เทียบเท่านักเรียนชั้น ม.5 และ ม.6 ปกครองกันเอง โดยไม่คำนึงถึงเหตุร้ายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ ขณะเดียวกันวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างผิดๆ ในส่วนของการลงโทษที่เรียกว่าการแดกกันเกินสมควร จนมีการบาดเจ็บและมีผู้เสียชีวิตในระยะ 3- 4 ปี จริงหรือไม่ และการที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่าเคยถูกซ่อมจนสลบแต่ไม่ตาย เป็นการยอมรับว่าโรงเรียนเตรียมทหาร มีการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิมนุษยนชน ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ให้ความคุ้มครองไว้หรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าว

 

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การที่แพทย์เก็บอวัยวะภายในของนายภคพงศ์ไว้ โดยไม่ได้มีการแจ้งต่อญาติ ถือว่าผิดจรรยาบรรณทางการแพทย์หรือไม่ และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199 หรือไม่ ดังนั้นข้อพิรุธทั้งหมดนี้ทางสมาคมฯเห็นว่าหากปล่อยไว้ให้เรื่องเงียบหายไป ก็จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบบริหารราชการแผ่นดิน และกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ และนานาประเทศที่เฝ้าติดตามการใช้อำนาจของรัฐในไทยขณะนี้ อาจขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี จึงอยากให้ กสม.ทำความจริงให้ปรากฎ รายงานข้อเท็จจริงให้สาธารณชนได้รับทราบ ว่าการดำเนินการดังกล่าวขัดหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพื่อเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงก่อนที่ กสม.ชุดนี้จะหมดวาระไป

 

ด้านนายโสพล กล่าวว่า ดีใจที่นายศรีสุวรรณ ไม่นิ่งดูดายกับเรื่องนี้ และนำมาร้องต่อ กสม. ซึ่งกรณีนี้เข้าข่ายอาจจะละเมิดสิทธิ และพฤติกรรมการการซ่อม การทรมาน อาจจะเข้าข่ายพันธกรณีระหว่างประเทศ และกฎหมายทรมานของไทย เพราะการปฏิบัติต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ปฎิบัติเหมือนเป็นสิ่งของหรือไม่ใช่มนุษย์ “ผมเข้าใจว่า การตรวจสอบชัดเจน มีหลักฐานเหตุผลเพียงพอ เหมือนข้อเท็จจริงบางอย่างน่าจะยุติแล้ว แต่ไม่ชัดเจน กรณีกระดูกซี่โครงหักหรือไม่หัก การตรวจของแพทย์ที่ไม่ตรงกัน ซึ่งก่อให้เกิดความสงสัยในสังคม ทาง กสม.ก็จะมีการตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง จากนั้นก็จะนำเสนอไปยังนายกฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน