ผู้เชี่ยวชาญหนุนมติ ฉีดวัคซีนสูตรผสม ซิโนแวค-แอสตร้า ชี้ผ่านความเห็นผู้เชี่ยวชาญพิจารณาบนฐานข้อมูลวิชาการของไทย WHOย้ำไม่ได้ห้าม-หน่วยงาน สธ.ทำได้

เมื่อวันที่ 14 ก.ค.64 คณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มี ศ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญ เช่น ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ดร.เรนู การ์ก รักษาการแทนผู้แทนองค์การอนามัยโลกในประเทศไทย

ร่วมหารือในประเด็น พญ.ซอมญ่า ซวามินาทน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประชาชนไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรผสม เนื่องจากจะเกิดความวุ่นวาย หากประชาชนมีโอกาสเลือกตัดสินใจเองว่าจะฉีดวัคซีนเข็ม 2 เข็ม 3 และ 4 ได้เมื่อไร และฉีดวัคซีนของผู้ผลิตรายใด แต่หน่วยงานสาธารณสุขสามารถดำเนินการได้ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบการฉีดบูสเตอร์โดสให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มอย่างน้อย 4 สัปดาห์ โดยอาจเป็นวัคซีนแอสตร้าเซเนกา หรือวัคซีนชนิด mRNA และเห็นชอบการให้วัคซีนโควิด-19 สลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนกาห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ซึ่งสามารถกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วขึ้น เพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ของโรค

ศ.นพ.สมหวัง กล่าวว่า ที่ประชุมยืนยันสนับสนุนมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กรณีฉีดสลับชนิดซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ โดยจะจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยบริการต่างๆ เพื่อสื่อสารให้ประชาชนรับทราบ และมีการติดตามประเมินผลการให้วัคซีนสลับชนิดอย่างเป็นระบบ ตามข้อคิดเห็นของผู้แทนองค์การอนามัยโลก โดยยืนยันว่าการพิจารณานโยบายการให้วัคซีนโควิด 19 ดังกล่าว ใช้ข้อมูลผลการศึกษาวิจัยในประเทศไทยรองรับ และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการด้านวิชาการฯ และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้

ด้านดร.เรนู กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกไม่ได้มีข้อขัดแย้งต่อนโยบายของประเทศไทย เป็นการให้คำแนะนำในภาพรวม ถ้าหน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศมีข้อมูลสนับสนุน การเลือกใช้วัคซีนแบบใดแบบหนึ่ง ขึ้นอยู่กับนโยบายและสถานการณ์การระบาดของแต่ละประเทศ แต่ประชาชนไม่ควรตัดสินใจด้วยตนเอง ควรเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานด้านสาธารณสุข สามารถทำได้หากอยู่บนพื้นฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์ และมีข้อเสนอให้มีการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ รวมถึงการรวบรวมข้อมูลผลการศึกษา นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ในผู้สูงอายุ และกลุ่มโรคเรื้อรังให้มากที่สุด

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า อว.มีความพร้อมในการสนับสนุนการวิจัย ทั้งในด้านการให้วัคซีน การติดตามการกลายพันธุ์ รวมถึงการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน