“อนุทิน” ชง “ศบค.” เคาะ จำกัดส่งออก แอสตราเซนเนกา ไปต่างประเทศหวังได้ 10 ล้านโดส ฉีดให้คนไทยก่อน สัปดาห์หน้าคุยทุกบริษัทจัดหาวัคซีน mRNA พร้อมสั่งซื้อไฟเซอร์อีก 50 ล้านโดส

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าได้สั่งการ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เร่งจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายนอกราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว เสนอให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) หรือ ศบค. พิจารณาตัดสินใจ เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่าได้สั่งการให้ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) เชิญผู้แทนของบริษัทวัคซีน ที่ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศไทยทุกราย เข้าพบในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือถึงแนวทางที่ประเทศไทย จะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัคซีน mRNA ที่ประชาชนต้องการ ซึ่งขณะนี้ผู้แทนของโมเดอร์นา ได้ตอบรับที่จะร่วมหารือกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข แล้ว รวมทั้ง ได้มีการยื่นข้อเสนอไปที่บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย เพื่อสั่งซื้อวัคซีน เพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมเพื่อหาแนวทางความร่วมมือกันเร็วๆนี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบหลักการที่จะมีการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายนอกราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว ตามที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เสนอ และมอบให้สถาบันวัคซีนฯกับกรมควบคุมโรค จัดทำร่างประกาศ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการฯพิจารณา โดยให้คำนึงถึงผลกระทบ ผลประโยชน์ของประเทศไทย และประชาชนคนไทยเป็นสำคัญ ทั้งปัจจุบันและอนาคต ควบคู่กันไป

ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีน และให้ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กับ อธิบดีกรมควบคุมโรค ไปเจรจากับผู้ผลิตวัคซีน ให้ได้จำนวนวัคซีนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ระบาดของโรคในประเทศก่อน ซึ่งประเด็นนี้ นายอนุทิน เคยแจ้งเป็นหนังสืออย่างเป็นทางการไปถึงแอสตราเซเนกา แล้วว่า ประเทศไทย ต้องการวัคซีน เดือนละ 10ล้านโดส

แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า นายอนุทิน ได้แจ้งให้ ผอ.สถาบันวัคซีนฯ ว่าเมื่อได้ผลการเจรจาอย่างไร ให้นำมารายงานในที่ประชุมกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาประกอบการจัดทำประกาศฯ ซึ่งคณะกรรมการ พร้อมจะประชุมทันทีที่ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับประชาชนคนไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกับประเทศในอาเซียน ที่รอการจัดสรรวัคซีน ที่ผลิตในประเทศไทยด้วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอศบค.พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้มีการพิจารณาได้ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งเชื่อว่า ศบค.จะยึดถือประโยชน์ของประเทศไทยเป็นหลัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน