สธ.แจงวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ฉีดบูสเตอร์เฉพาะบุคลากรที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มตามข้อมูลวิชาการ ไม่ฉีดบุคลากรเป็นเข็ม 1 เว้นแพ้วัคซีนอื่นที่มีทุกตัว หรือตามความจำเป็นเฉพาะราย

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.64 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ กล่าวถึงการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ได้หารือการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ โดยที่ประชุมเห็นว่า ยังมีกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการดูแลคนไข้ที่ติดโควิดได้ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้อยู่ด่านหน้าโดยตรง แต่ยังมีความเสี่ยงก็จะพิจารณาเพิ่มเติมนอกเหนือจาก 7 แสนโดส ซึ่งมีบางส่วนกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าไปก่อนหน้าแล้ว แต่รอบแรกต้องจัดการตามที่รายงาน ศบค. คือให้บุคลากรแพทย์ด่านหน้า แต่ยังมีกลุ่มเสี่ยงอีกหลายกลุ่ม

นอกจากนี้จะพิจารณาเกลี่ยไปลงกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ในล็อตนี้ แต่ยังขาดอยู่ เช่น กลุ่มนักเรียนที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศรวบรวมข้อมูล ถ้าเกินกว่า 1.5 แสนโดสที่จัดสรรไว้ก็เกลี่ยมาให้เพิ่มเติม หรือถ้าในยอด 1.5 แสนโดสมีเหลือก็อาจจะนำมารวมเป็นกองกลางแล้วกระจายไปยัง 13 จังหวัดเป้าหมายพื้นที่เสี่ยงที่ยังมีตัวเลขของผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ ที่ต้องเข้าไปฉีดเพื่อลดอัตราการป่วยเสียชีวิต

เมื่อถามถึงเกณฑ์จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม จนมีบุคลากรด่านหน้าบางคนทวงถามว่า ไม่ได้ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แต่ปฏิบัติงานด่านหน้าเช่นกันนั้น นพ.สุระ กล่าวว่า การพิจารณาเป็นไปตามข้อมูลวิชาการ ที่ก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรคได้เสนอต่อ ศบค.

เนื่องจากมีการศึกษาว่าเมื่อรับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องกระตุ้นด้วยเข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์โดส ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องระบุเกณฑ์ เพราะต้องอิงข้อมูลทางวิชาการ ส่วนกรณีอื่นๆ นอกเหนือจากนั้น เช่น กลุ่มได้รับแอสตร้าเซนเนก้า ครบ 2 เข็ม หรือกลุ่มฉีดซิโนแวค 1 เข็ม แล้วแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 นั้น ได้มีการเตรียมศึกษาวิจัยเรื่องนี้แล้ว

นพ.สุระ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีบุคลากรที่ไม่ได้รับวัคซีนใดๆ เลยนั้น อาจเพราะไม่สามารถฉีดได้ทั้งซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้า ตรงนี้จะพิจารณาเป็นกรณี ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจตัวเลขว่ามีจำนวนเท่าไร แต่โดยหลักขอเน้นฉีดให้บุคลากรด่านหน้าสำหรับบูสเตอร์โดสก่อน เพราะมีข้อมูลวิชาการรองรับ

ส่วนการฉีดไฟเซอร์ที่ต้องผสมน้ำเกลือ เป็นสูตรที่ทางไฟเซอร์กำหนดอยู่แล้ว บุคลากรของเราก็พร้อมฉีดด้วยเทคนิคนี้ เพราะที่ผ่านมาการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ พยาบาลก็ผสมยากับน้ำเกลือ มีการผสมวัคซีนตัวอื่นๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้าก็ต้องผสมน้ำกลั่นกับวัคซีนแห้งก่อนฉีด เป็นต้น

ดังนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ บุคลากรมีการปฏิบัติอยู่แล้ว เพียงแต่ที่มีการประชุมคอนเฟอเรนซ์กันเมื่อวันที่ 30 ก.ค. เป็นการซักซ้อมทำความเข้าใจกัน ขอประชาชนอย่ากังวล ย้ำว่าการผสมน้ำเกลือเป็นข้อกำหนดการฉีดวัคซีนไฟเซอร์อยู่แล้ว เราไม่ได้คิดเอง

ทั้งนี้ มติการประชุมคณะทำงานด้านบริหารการจัดการการให้บริการวัคซีนโควิดไฟเซอร์ วันที่ 30 ก.ค. กำหนดเกณฑ์ดสรรวัคซีนให้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด ทั่วประเทศ “ที่เข้าเกณฑ์” ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานแผนกผู้ป่วยโควิด ได้แก่ แผนกผู้ป่วยนอก คลินิกทางเดินหายใจ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลสนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักกัน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในฮอสพิเทล หรือ ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับภารกิจการดูแลผู้ป่วยโควิด

โดยมีชื่อปรากฎในฐานข้อมูลระบบกระทรวงสาธารณสุข ว่า ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้วอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ระบุว่าเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และยังไม่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น

บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข “ที่ไม่เข้าเกณฑ์” ได้แก่
ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 แล้ว
ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม
ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้า มาเพียง 1 เข็ม
ได้รับวัคซีนอื่นๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน