แบงก์ชาติ รับใกล้หมดกระสุนพยุงเศรษฐกิจ เมินอัด เครื่องมืออัดฉีดสภาพคล่อง หรือ QE เข้าระบบ ขอทุกคนช่วยกันดึงจีดีพีไม่ให้ติดลบ

วันที่ 4 ส.ค.64 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า การประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 0.7% และ ในปี 2565 ที่ 3.7% ได้รวมปัจจัยต่าง ๆ ล่าสุดจนถึงวันที่ 3 ส.ค.แล้ว ทั้งมาตรการควบคุมการระบาดล่าสุดที่ยกระดับสีแดงเข้มเป็น 29 จังหวัด รวมถึงความคืบหน้าของมาตรการเยียวยาต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยอยู่ค่อนข้างมาก แต่ระยะข้างหน้ายังมีเครื่องยนต์อื่น ที่ยังพอพยุงเศรษฐกิจไว้ได้บ้าง อาทิ การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่สถานการณ์เบากว่าไทย ภาคการคลังที่ออกเม็ดเงินเยียวยาต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดทอนผลกระทบจากการคุมระบาด ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้

รวมถึงการคุมการระบาดและเร่งผ่อนคลายมาตรการลดการเคลื่อนที่ ซึ่งถ้าหากสามารถผ่อนคลายได้ไม่ช้าไปกว่าต้นไตรมาส 4/2564 ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยไม่หดตัวในปีนี้

“มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะชะลอลงมากกว่ากรณีฐานมาก แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากว่าจะพัฒนาไปด้านใด เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวที่ 0.7% ก็ถือว่าค่อนข้างต่ำมากแล้วจากที่ปีก่อนหดตัวไปถึง -6.1% และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ยังขยายตัวได้ค่อนข้างดี ก็คงต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการช่วยกันขับเคลื่อนและประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ และคงต้องทำอย่างเต็มที่ตั้งแต่วันนี้ โดยยังไม่ต้องรอให้เศรษฐกิจไทยแย่ลงไปถึงขนาดติดลบในปีนี้”

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ

โดยเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าเงินสกุลภูมิภาคจากสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้า ทั้งนี้ ธปท. ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด โดยดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ

ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอเรื่องให้ ธปท. พิจารณาการใช้เครื่องมืออัดฉีดสภาพคล่องหรือ QE ซึ่งมีผลในการพยุงเศรษฐกิจระยะสั้น ยืนยันว่าภายใต้สถานการณ์ที่การระบาดรุนแรงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีกระสุนเหลือน้อย ธปท. จึงได้ศึกษาเครื่องมือการเงินอื่น ๆ ไว้

โดยการทำ QE อาจไม่ตอบโจทย์ของไทย เพราะ 1.โจทย์ปัจจุบันไม่ใช่สภาพคล่องโดยรวมไม่เพียงพอ 2.ไทยเป็น bank-based economy ภาคเอกชนระดมทุนผ่านตลาดสารหนี้เพียง 10% การทำ QE จะได้ประโยชน์ในวงจำกัด

3.ต้นทุนการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ขณะนี้อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น มาตรการที่ตอบโจทย์ตอนนี้ คือ มาตรการการเงินและสินเชื่อ ซึ่งต้องเร่งปรับปรุงมาตรการให้มีประสิทธิผลขึ้น โดยเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว ทั้งนี้ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน