คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบ เปิดประเทศอย่างปลอดภัย จากโรคระบาด เตรียมเปลี่ยนเป็นโรคโรคประจำถิ่น ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาด

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2564 ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานประชุม มีข้อสรุปการประชุมที่สำคัญ ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ต่อไป

โดยที่ประชุมรับทราบสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ของไทยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อคงตัว วันนี้มีผู้ติดเชื้อใหม่ 19,014 ราย รักษาหาย 20,672 ราย เป็นผลจากมาตรการต่างๆ

เช่น การล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม การตรวจค้นหาเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK และนำเข้าระบบการรักษาที่บ้าน/ชุมชน การเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุม ตั้งแต่เดือนนี้มีวัคซีนเข้ามาเพิ่มทั้งไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค ส่งไปทั่วประเทศ ขณะนี้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 27 ล้านโดส ผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นร้อยละ 28

ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติ 4 เรื่องสำคัญ โดยจะนำเสนอต่อ ศบค.เพื่อสั่งการดำเนินการต่อไป

ประการแรก ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย ภายใต้มาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ smart control and living with covid เป็นการเตรียมเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน จากภาวะวิกฤตที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีเป้าหมายเพื่อควบคุมการระบาด ให้มีผู้ป่วยไม่เกินเป้าหมายที่ศักยภาพของระบบสาธารณสุขรองรับ พูดง่ายๆ คือ การต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตกับเชื้อโควิด-19 ต่อไป จากเดิมที่มีระบาดทั่วโลก ต่อจากนี้จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น หลายประเทศมีมาตรการรองรับเพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตเป็นปกติที่สุด

โดยมีกลยุทธที่ 1 คือ ฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง รวมถึงพัฒนาการหาวัคซีนใหม่อย่างครบวงจร มาตรการที่ 2 Universal Prevention หรือ การป้องกันโรคในทุกกรณี ในทุกโอกาส โดยมีแนวคิดว่าทุกคนสามารถเป็นผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ ต้องระวังตนเองตลอดเวลา สอดคล้องมาตรการเดิม คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ใช้แอพพลิเคชั่นอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ประการที่ 3 คือ การทำงานเชิงรุกด้วยทีมเคลื่อนที่เร็ว Comprehensive COVID-19 response หรือ CCRT ลงไปในพื้นที่เพื่อเยี่ยมบ้าน ชุมชน เพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุก

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากมาตรการต่างๆ าไทยพร้อมแล้วใช่หรือไม่ในการเปิดประเทศ นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเปิดประเทศและการควบคุมโรคต้องอิงสถานการณ์ วันนี้จะมีมาตรการควบคุม เพื่อนำไปสู่การเปิดประเทศอย่างปลอดภัย ะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ สถานการณ์ตอนนี้เราเตรียมการวางแผน โดยทั้งหมดต้องดำเนินการภายใต้การควบคุมโรคที่เสนออย่างต่อเนื่อง จึงจะเปิดประเทศได้ตามแผนกำหนด หากทำได้ตามมาตรการควบคุมโรค ก็ผ่อนคลายและฟื้นฟูประเทศได้

ขณะที่นพ.โอภาส กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์จะสิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค.นี้ คำถามว่าหลังล็อกดาวน์จะเป็นอย่างไร วันนี้ นพ.ทวีทรัพย์ รายงานที่ประชุม หลังจากนี้ตั้งแต่เดือนก.ย.จนถึงปลายปี และปีหน้า หากจะเปิดให้ประชาชนคลายล็อกกิจกรรมต่างๆ ต้องมีอะไรบ้าง

หลักๆ คือ 1.ฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนตามแผน 2.ตรวจคัดกรองตามจุดเสี่ยงต่างๆ อย่างเข้มงวด และใช้ชุดตรวจโควิดอย่างง่าย คือ ATK 3.ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทำมาตรการต่างๆ อย่างที่เรียกว่า Universal Prevention ต้องทำอย่างไร ซึ่งจะมีการขยายความประเด็นนี้อีกครั้ง หลักๆ ก็มี D-M-H-T-T และมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล รวมทั้งการประเมินมาตรการสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ป่วยว่า ต้องมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ ต้องเป็นอย่างไร เป็นต้น ซึ่งต้องใช้กลยุทธ์และมาตรการหลายส่วนประกอบกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังวันที่ 31 ส.ค.จะประเมินการผ่อนคลายหรือเปิดประเทศอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการประเมินเป็นระยะ ทั้งสถานการณ์และมาตรการต่างๆ และทุกเรื่องต้องรายงานเสนอ ศปก.ศบค.เห็นชอบต่อไป รายละเอียดมาตรการข้อกำหนดต่างๆ เป็นอย่างไร ขอนำเข้าศปก.ศบค.ก่อน แต่จะมีแนวกำหนดไว้ ทั้งการฉีดวัคซีนปริมาณเท่าไหร่ อย่างไร

เมื่อถามว่าการเปิดประเทศหมายความว่าเปิดทั้งประเทศหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า การเปิดประเทศเป็นไปตามนโยบายเปิดประเทศ 120 วัน ไม่ได้หมายถึงการเปิดทั้งประเทศ แต่จะเป็นพื้นที่ ยกตัวอย่างภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ดังนั้น เป้าหมาย 120 วัน กระทรวงสาธารณสุขยังรับนโยบายนายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องพิจารณาเพราะมีตัวแปรต้องพิจารณาอีกมาก เช่น ช่วงประกาศนโยบายเปิดประเทศ 120 วัน ยังไม่มีเชื้อเดลตาระบาด ซึ่งหลายประเทศเมื่อเจอสายพันธุ์นี้ก็มีการติดเชื้อใหม่ อย่างไรก็ตามทุกอย่างต้องอยู่ในการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนกำหนดไว้

ประการที่สอง เห็นชอบหลักการมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and seal) สำหรับสถานประกอบกิจการ ในพื้นที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ใช้แนวคิดกลุ่มคนที่แข็งแรงและอยู่เป็นกลุ่มในพื้นที่จำกัด ไม่ปะปนกับบุคคลภายนอก ใช้การสุ่มตรวจเพื่อประเมินสถานการณ์ ถ้าพบการติดเชื้อเกินร้อยละ 10 แยกไปรักษาที่รพ.สนาม และเฝ้าระวังคนที่เหลือให้สามารถทำงานต่อได้ เมื่อครบ 28 วัน ตรวจภูมิคุ้มกัน ผู้ตรวจพบภูมิคุ้มกันจะทำงานต่อไป กลับบ้านได้

ผลดีคือ ไม่ต้องปิดโรงงาน แรงงานได้ค่าจ้าง เศรษฐกิจไปต่อได้ โดยมีกลไกด้านการสื่อสารทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำและระบบพี่เลี้ยง ด้านกำกับประเมินผล ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม สาธารณสุข แรงงาน มหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีจังหวัดต้นแบบ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา พบว่าทำให้โรงงานเปิดต่อไปได้ และไม่ระบาดวงกว้าง ซึ่งจะมีคู่มือการทำงาน สำหรับสถานประกอบการต่างๆ

ประการที่สาม เห็นชอบร่างกฎกระทรวง เรื่องการแจ้งกำหนดวัน เวลา สถานที่ที่พาหน จะเข้ามาถึงด่านควบคุมติดต่อระหว่างประเทศ และการยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อระหว่างประจำด่านโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับพาหนะที่จะเข้าสู่ประเทศไทย

ประการที่สี่ คณะกรรมการฯ มีมติสนับสนุนให้มีผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดร่วมเป็นตัวแทนในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อให้มีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการควบคุมโรค

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน