เผยเงื่อนไขคลายล็อกเดินทางข้ามจังหวัด เปิดกิจการในห้างที่ยังต้องปิดต่อ สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สปา สวนสนุก สวนน้ำ หรือฟิตเนส ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ ห้องประชุมจัดเลี้ยงในห้า มีผล 1 ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงข่าวภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 30 ที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ครบกำหนดการประเมินวันที่ 31 ส.ค. วันนี้จึงมีการพิจารณาการปรับมาตรการป้องกันโควิด และอนุญาตเปิดกิจการกิจกรรมเพิ่มเติมตามความพร้อมและความจำเป็น เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติที่สุด

โดยนำข้อเสนอมาตรการที่มาจากผู้ประกอบกิจการต่างๆ ทั้งสมาคมผู้ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า สมาคมภัตตาคารไทย สภาหอการค้าไทย สมาคมผู้ประกอบการต่างๆ ที่หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาครัฐ ว่าเปิดกิจการอย่างไรถึงจะปลอดภัย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ศบค.พิจารณารอบด้านทั้งเศรษฐกิจและสังคม โดยข้อสรุปคือ ผู้ติดเชื้อลดลง แต่ยังไม่มาก สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่เราจะพลิกมุมมอง เพราะโควิดยังไม่หายไปไหน ยังอยู่ร่วมกับประเทศไทยและสังคมโลก เราต้องปรับตัวรับมือและอยู่ร่วมกับโรคโดยปลอดภัยให้ได้ ทั้งส่วนบุคคล ครอบครัว และสังคม มีการปรับกลยุทธ์และสร้างความมั่นใจเพื่อให้การควบคุมโรคสอดคล้องไปกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างปลอดภัย โดยการเสนอมาตรการครั้งนี้ เป็นมาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด

ที่ประชุมมีมติว่า ยังไม่มีการปรับสีพื้นที่สถานการณ์ โดยจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ยังเป็น 29 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทร า พระนครศรีอยุธยา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง เนื่องจากมีรายงานการติดเชื้อและเสียชีวิต แพร่ระบาดเป็นวงกว้างระดับชุมชน สถานประกอบกิจการ โรงงาน ตลาด แคมป์ก่อสร้าง หอพักหรือที่พักอย่างแออัด และมีรายงานเสียชีวิตต่อเนื่อง จึงต้องคงมาตรการที่เข้มงวดเพื่อให้การป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดต่อเนื่องยังได้ผล โดยคงมาตรการทางสังคม คือ การทำงานที่บ้าน และเคอร์ฟิวอย่างน้อย 14 วัน ยกระดับมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) และมาตรการองค์กรเพื่อลดผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิต

ส่วนมาตรการแบ่งเป็น 1.การยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคเพื่อการเปิดกิจการกิจกรรมให้ปลอดภัยยั่งยืน ด้วยหลักการ COVID Free Setting และ Universal Prevention สำหรับสถานที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยง และ 2.การเปิดกิจการกิจกรรมในพื้นที่สีแดงเข้ม โดยอยู่ภายใต้มาตรการที่กำหนด 6 ประเภท ได้แก่ การเดินทางข้ามจังหวัดจาดพื้ยนที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด , การเปิดบริการของร้านอาหาร , การปรับมาตรการสำหรับห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตีมอล , การกิจการกิจกรรมบางประเภท ได้แก่ ร้านเสริมสวย ร้านนวดเฉพาะนวดเท้า , การใช้อาคารสถานศึกษา และการเปิดใช้สนามกีฬา

สำหรับมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลแบบครอบจักรวาล คือ การป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลาทุกคนแม้ยังไม่พบความเสี่ยง ขอให้คิดเสมอว่าเราและคนรอบตัวไม่ว่าสนิทสนมแค่ไหน อาจเป็นผู้ติดเชื้อโควิดแฝงและแพร่เชื้อให้ตัวเองหรือคนอื่นได้ ตอนนี้เน้นย้ำการ์ดสูงสุดแม้แต่บุคคลใกล้ชิด เพื่อนทำงาน ร่วมหอพัก พิจารณาออกจากย้านตามความจำเป็น ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง แยกของใช้ เป็นวิถีใหม่ปฏิบัติตัวของประชาชน

ส่วนมาตรการองค์กร COVID Free Setting เช่น หากโรงเรียนก็ต้องเป็นโรงเรียนปลอดโควิด สถานประกอบการ โรงงาน ก็ต้องเป็นสถานที่ทำงานปลอดโควิด มีเกณฑ์ 3 ส่วนที่ต้องร่วมมือกัน คือ 1.สิ่งแวดล้อม ต้องจัดให้มีการระบายอากาศ สุขอนามัยเหมาะสม เว้นระยะห่าง เป็นข้อบังคับที่องค์กรต้องจัดให้ได้ 2.ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ พนักงาน จะมีการระดมฉีดวัคซีนให้คนในภาคบริการเหล่านี้ ทั้งร้านอาหาร ร้านตัดผม ร้านนวด จะพยายามเร่งรัดให้ฉีดครอบคลุม 2 เข็มโดยเร็วที่สุด สนับสนุนการตรวจหาเชื้อด้วยชุด ATK ที่จัดหาง่าย เข้าถึงโดยง่าย อย่างต่างประเทศสถานประกอบการก็จัดหามาตรวจพนักงานทุกสัปดาห์ เพื่อยืนยันว่าปลอกจากการติดเชื้อ ติดป้ายร้านนี้ผู้ให้บริการรับวัคซีนครบแล้ว 100% เป็นต้น และ 3.ลูกค้า ต้องร่วมมืออย่างเข้มงวดกับมาตรการร้าน ไม่ว่าเข้ารับบริการร้านไหน โดยมีเรื่องการฉีดวัคซีนและตรวจ ATK ก่อนเข้ารับบริกาด้วย เป็นมาตรการที่จะทำให้ร้านค้า กิจการ กิจกรรมเปิดได้มากขึ้น และจะมีการติดตามการประเมินผล ซึ่งจะไม่ใช่แค่ภาครัฐ แต่จะรวมถึงสมาคมต่างๆที่ดูแลด้วย

“ที่ประชุมเห็นชอบให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. แต่เป็นการดำเนินการในพื้นที่นำร่องเฉพาะสถานประกอบการ สถานบริการที่มีความพร้อมและดำเนินการได้ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดต้องประเมินก่อนว่ามีความพร้อมหรือไม่ พนักงานฉีดวัคซีนครบถ้วน หาชุดตรวจ ATK อำนวยความสะดวกตรวจพนักงานทุกสัปดาห์ เป็นต้น ย้ำว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ทุกร้านหรือทุกสถานประกอบกิจการ เป็นการใช้นำร่อง ถ้ามาตรการนี้ท่านยังไม่พร้อม ให้ศึกษารายละเอียดไปก่อนแล้วค่อยๆ พัฒนา ขอความเห็นคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สมาคมต่างๆ เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ เมื่อพร้อมก็สามารถเริ่มใช้มาตรการนี้ได้ โดยมีการกำกับติดตามเข้มงวด” พญ.อภิสมัยกล่าว

 

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า มาตรการนี้จะได้ผลดียิ่ง ต้องเน้นการป้องกันโรค เช่น วัคซีน ซึ่งระยะต่อไปนี้รัฐบาลสามารถนำเข้าวัคซีนได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงชุดตรวจ ATK ก็เร่งรัดให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น ส่วนมาตรการควบคุมโรค ภาครัฐพร้อมกำกับดูแลมาตรการต่างๆ เอกชนสถานประกอบการต้องกำหนดมาตรการปลอดโควิด ประชาชนเน้นการป้องกันสูงสุดแบบครอบจักรวาล ขณะที่มาตรการส่งต่อผู้ป่วยและการรักษา สถานการณ์เตียงค่อนข้างปรับได้ดีขึ้น มีการแยกคัดผู้ป่วยอาการระดับเล็กน้อย ไม่มีอาการให้เข้ารับการแยกกักที่บ้านและชุมชน ทำให้เตียงเหลืองแดงสภาพคล่องดีขึ้น

“ที่ประชุมพิจารณาแง่ประชาชนรับผลกระทบด้วย ซึ่ง ศบศ.ให้การเยียวยาประชาชนรับผลกระทบอย่างเหมาะสม ภาคเอกชน ประชาสังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งการอนุญาตเปิดกิจกรรมกิจการครั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่กลับมาประกอบอาชีพตนได้ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนระดับหนึ่ง” พญ.อภิสมัยกล่าวและว่า การเร่งรัดฉีดวัคซีนทำให้แผนทั้งหมดนี้เป็นไปได้ เน้นย้ำคือเร่งรัดฉีดวัคซีนตามลำดับความเร่งด่วน กลุ่มคนเสี่ยงสูงอายุ 7 กลุ่มโรค หญิงครรภ์ 12 สัปดาห์ กิจกรรมกิจการเสี่ยงซึ่งก่อนหน้านี้มีทั้งบุคลากรทางการแพทย์ พนักงานขนส่งสาธาณณ ครู บุคลากรทางการศึกษา ส่วนตอนนี้พูดคุยอาชีพเสี่ยงเช่น ให้บริการลูกค้า ตัดผม ส่งอาหาร รวมทั้งการพิจารณาระดมฉีดวัคซีนพื้นที่เสี่ยง 29 จังหวัดระดมฉีดให้ได้เร็ว และการเข้าถึงชุดตรวจ ATK ซึ่งการจัดซื้อ 8.5 ล้านชุดจะมีการลงนาม โดยบริษัทจัดส่งให้ได้ใน 2 สัปดาห์ ทำให้ประชาชนผู้ประกอบการเข้าถึง

สำหรับรายละเอียดมาตรการการเปิดกิจกรรมกิจการพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ 1.การเดินทางข้ามจังหวัดจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเดินทางได้ เมื่อจำเป็นเท่านั้น โดยผู้ติดเชื้อผู้ป่วยที่จะกลับไปรักษาให้เข้าตามโครงการรับคนกลับบ้าน ไม่อนุญาตให้เดินทางเอง ระบบขนส่งสาธารณะเปิดดำเนินการได้ จำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 75% สวมหน้ากากตลอดเวลาทั้งผู้ให้บริการ คนขับ คนเก็บค่าโดยสาร ผู้โดยสาร ห้ามรับประทานอาหารขณะโดยสาร

2.ร้านอาหาร โดยกรณีเป็นพื้นที่โล่ง ระบายอากาศถ่ายเทดี อนุญาตนั่งรับประทาน 75% ของพื้นที่ หากมีเครื่องปรับอากาศอนญาต 50% ของพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคเคร่งครัด กำกับติดตามโดยผู้ประกอบการ สมาคมภัตตาคารไทย คณกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.

3.ห้างสรรพสินค้าเปิดกิจการได้ แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 เปิดแบบมีเงื่อนไข คือ ร้านเสริมสวยแต่งผม เปิดได้เฉพาะตัดผมเท่านั้น ไม่เกิน 1 ชั่วโมง มีการนัดหมายล่วงหน้า จองคิว หลีกเลี่ยงการเข้าไปแออัดนั่งรอ ร้านนวดเปิดเฉพาะนวดเท้า คลินิกเสริมความงามจำหน่ายสินค้าเท่านั้น ต้องนัดหมายล่วงหน้า ร้านอาหารในห้างเปิดได้ตามเงื่อนไขและมาตรการของร้านอาหาร

ส่วนกลุ่มที่ 2 ที่ยังเปิดไม่ได้ คือ สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สปา สวนสนุก สวนน้ำ หรือฟิตเนส ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ ห้องประชุมจัดเลี้ยงในห้าง โดยผู้ประกอบการดำเนินตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด และกำกับติดตามโดยสภาหอการค้าไทย และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม และเปิดดำเนินการได้ถึง 20.00 น.

4.กิจการกิจกรรมบางประเภทนอกห้างสรรพสินค้า ได้แก่ ร้านเสริมสวย ร้านตัดผมแต่งผม ร้านนวดเฉพาะนวดเท้า ให้จองล่วงหน้า ใช้เวลาจำกัด เป็นไปตามมาตรการเช่นเดียวกับในห้าง

5.สถานศึกษายังไม่เปิดเรียน แต่พิจารณาให้ใช้อาคารได้ ผ่านเห็นชอบผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. อย่างสถานศึกษาบางแห่งจัดประชุมสอบ ต้องทำเรื่องขออนุญาตเป็นกรณี

6.สนามกีฬาและสวนสาธารณะ ในส่วนที่ใช้เป็นการเล่น ซ้อม แข่งขันกีฬาเปิดได้แบบไม่มีผู้ชม จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย นักกีฬา ผู้จัดการ ผู้ติดตาม โค้ช เน้นย้ำมีคนรวมกลุ่มกันน้อยที่สุด ขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เปิดได้ถึง 20.00 น.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน