ศบค.ชี้มาตรการ ร้านอาหาร สถานประกอบการ เน้นฉีดวัคซีนพนักงานให้ครบ ใช้ชุดตรวจ ATK สม่ำเสมอ นำร่องเฉพาะร้านที่พร้อมใน 29 จังหวัด ไม่ได้บังคับ

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กล่าวถึงประเด็นมาตรการร้านอาหาร ที่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ บังคับใช้วันที่ 1 ก.ย. โดยพื้นที่สูงสุด 29 จังหวัด มีสัดส่วนการนั่งในร้านติดแอร์ ไม่เกิน 50% ไม่ติดแอร์ไม่เกิน 75% และนั่งได้ถึง 20.00 น. ส่วนอีก 37 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด นั่งได้ไม่ตามปกติไม่เกิน 50 คน ถึง 23.00 น. ทั้งสองพื้นที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน

สำหรับ มาตรการควบคุมโรคโควิด 19 แนวใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย หรือ Smart Control and Living with Covid 19 เน้นย้ำว่าจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทยอยเปิดกิจการ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ที่อนุญาตเปิดเกิจการนั้น มีผลใน 29 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่สอบถามเข้ามามาก คือ มาตรการฉีดวัคซีนและตรวจหาเชื้อด้วย ATK ที่ใช้ในสถานประกอบการ ร้านอาหาร หรือสถานบริการต่างๆ ในมาตรการ COVID Free Setting วันนี้เป็นต้นไป ย้ำว่ามาตรการนี้ไม่ได้เป็นการบังคับ เป็นการขอความร่วมมือ นำร่อง สถานประกอบการใด พื้นที่ใด จังหวัดใดพร้อมสามารถดำเนินการตามมาตรการได้เลย

COVID Free Setting คือ สถานประกอบการปลอดโควิด มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1.สถานประกอบการ ร้านอาหาร ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาล มีคู่มือศึกษาได้ใน Thai Stop COVID Plus ของกรมอนามัย หรือขอความร่วมมือจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นพี่เลี้ยงให้ทำมาตรการนี้ผ่าน 2.พนักงาน เจ้าหน้าที่ กำหนดว่าจะต้องฉีดวัคซีนและตรวจ ATK สม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ในส่วนที่พร้อมคงเป็นจังหวัดที่ฉีดวัคซีนคืบหน้าค่อนข้างมาก คือ กทม. ปริมณฑล ส่วน 23 จังหวัดที่เหลืออาจจะยังไม่พร้อม ต้องขออภัย การกระจายวัคซีนอาจยังไม่ทั่วถึง จึงยังไม่ได้มีการบังคับถ้ายังไม่พร้อม

“ส่วนคนที่พร้อม เช่น ร้านอาหารบางร้านขึ้นป้ายว่า ร้านนี้มีพนักงานฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว อาจเป็นพื้นที่เสี่ยงที่รับการปูพรมฉีดวัคซีนแล้ว รวมถึงการจัดหาชุด ATK มาตรวจ บางร้านมีพนักงานน้อย 10-25 คน อาจไม่เดือดร้อนในการจัดหาชุดตรวจมาตรวจสม่ำเสมอ ร้านที่มีพนักงานจำนวนมากก็เข้าใจ แต่ว่าท่านมีหน้าที่สำรวจความพร้อมและขอความช่วยเหลือ หน่วยงานรัฐในพื้นที่จะระดมความช่วยเหลือให้พร้อมให้ได้ เราปักหลักวันที่ 1 ต.ค. น่าจะเห็นความพร้อมชัดยิ่งขึ้น วันนี้ไม่พร้อมแต่ต้องเริ่มให้เห็นทิศทาง คนไม่พร้อมจะได้เห็นมาตรการว่าจะต้องเตรียมความพร้อมวันหน้าอย่างไร” พญ.อภิสมัยกล่าว

และ 3.ลูกค้า ขอให้แต่ละจังหวัดช่วยกันผ่อนผันก่อน วัคซีนอาจยังไม่ทั่วถึง การจัดหา ATK มาตรวจยังไม่สามารถจัดหาได้ ขอให้หาทางออกร่วมกัน บางท่านมีความพร้อม เข้าไปในร้านอาหาร สถานประกอบการ อาจมีหลักฐานวัคซีนแสดงได้เลย เป็นการให้ความร่วมมือ ไม่ถือเป็นการบังคับ

เมื่อพร้อมทั้ง 3 ส่วน พื้นที่นั้น จังหวัดนั้น สถานประกอบการหรือร้านนั้นๆ จะเป็นตัวอย่างนำร่องศึกษาข้อปฏิบัติมาตรการนี้ ยังมีจุดอ่อนต้องปรับพัฒนาอย่างไร ให้ได้รูปแบบดีที่สุด เหมาะสมที่สุด วันที่ 1 ต.ค. ก็จะง่ายในพื้นที่อื่น เพราะมีการเรียนรู้ข้อไหนต้องปรับแก้ นำไปใช้ได้เลย นำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย

“ตลอด ก.ย.เป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อให้ ต.ค.ที่วันนี้ยังมองไม่เห็นพร้อมได้ยังไง ขอให้ร้านที่พร้อมช่วยกันดำเนินการ ลูกค้าเห็นก็จะมีความมั่นใจที่จะตัดสินใจรับบริการ บางร้านที่อาจพร้อมแต่ยังไม่มั่นใจ อาจเลือกปิดไปก่อนหรือบริการเดลิเวอรีไปก่อน เป็นต้น” พญ.อภิสมัยกล่าว

มาตรการนี้ ศบค.เน้นย้ำเสมอว่าขอให้ภาครัฐและที่เกี่ยวข้อง ค้นหาวิธีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ สถานประกอบการ ประชาชนเดิอดร้อนน้อยที่สุด นายกฯ สั่งหน่วยงานทีเกี่ยวข้องช่วยประชาชนเข้าถึง ATK ได้ มีการชดเชยค่าใช้จ่ายจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK กระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ฯ กำลังหารือเร่งด่วน

ทั้งนี้ ยังห่วงการรวมกลุ่มคนแออัด เมื่อเข้าไปกินอาหารเสร็จรีบกลับ ถ้ามีดนตรีอาจฟังเพลิน อยู่นาน เปิดแมสก์ กินไปด้วยฟังไปด้วย กลุ่มนักดนตรีที่เดินทางหลายสถานที่ไป 2-3 แห่ง ขอให้รอก่อนยังไม่สามารถทำได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน